ขึ้นกับสภาพการใช้งานรถยนต์ของคุณ พวกแผงโซลาร์เซลล์นั้นผลิตไฟฟ้าได้เฉพาะในเวลากลางวันที่มีแสงแดด ถ้าปกติใช้รถกลางวัน ชาร์จกลางคืน ก็ใช้ไฟจากโซลาร์เซลล์ชาร์จไม่ได้ ถ้าจะให้ทำได้ก็ต้องลงทุนติดตั้งแบตเตอรี่เพิ่มอีก ซึ่งหากจะให้ได้ความจุไฟฟ้ามากพอที่จะชาร์จรถได้ 0 – 100% ก็จะเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงพอสมควร (หลักหลายแสนบาทนอกจากนี้แผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้ก็ต้องใหญ่ขึ้นตามไปด้วย) เพราะแบตเตอรี่ที่ใช้เก็บพลังงานไว้ชาร์จกลางคืนก็ต้องมีขนาดพอๆ กับแบตเตอรี่ที่อยู่ในรถไฟฟ้าที่จะชาร์จเลย ซึ่งความจริงเราก็อาจไม่ได้ใช้รถมากจนไฟหมดหรือเหลือไฟในระดับต่ำๆ เช่น 10 – 20% ทุกวัน
แบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้าทั่วไปมีขนาดประมาณ 50 kWh ซึ่งไฟฟ้าที่จะชาร์จจนเต็ม 0-100% นั้น ถ้าจะเอามาจากแผงโซลาร์เซลล์ล้วนๆ ให้เพียงพอวันต่อวัน ก็จะต้อง จะต้องใช้แผงขนาดประมาณ 10 kWh ขึ้นไป (ในเวลา 1 วันแสงอาทิตย์ไม่ได้มีพลังงานเต็มที่ 100% ตลอดทั้งวัน คืออ่อนแรงในช่วงเช้า-สาย และ บ่าย-เย็น โดยมีพลังงานแรงสุดช่วงเที่ยงวัน แต่เฉลี่ยแล้วจะมีแสงเทียบเท่ากับ 100% เป็นเวลาประมาณ 4-5 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้นสำหรับพื้นที่ประเทศไทย)
ดังนั้นถ้าจะให้ได้ไฟฟ้า 50 kWh ก็จะต้องใช้แผงขนาด 10 Kw (คิดคร่าวๆ แผงมาตรฐาน 500 W ขนาด 2 ตารางเมตร จำนวน 20 แผง รับแสงเฉลี่ย 5 ชั่วโมงต่อวัน) ในขณะที่ระบบโซลาร์เซลล์ทั่วไปที่ติดตั้งตามบ้านกันมีขนาดเริ่มที่ 5 kW ลงทุนประมาณเกือบ 2 แสนบาท ไม่รวมแบตเตอรี่ ถ้ารวมก็คิดง่ายๆ เพิ่มอีกเท่าตัวเป็น 4 แสน ถ้าระบบ 10 kW ก็ต้องเพิ่มเป็น 7-8 แสน (ค่าแบตเตอรี่มีแนวโน้มถูกลง แต่อายุใช้งานก็น้อยกว่าแผงโซลาร์เซลล์ที่ยาวถึง 20 ปี จึงคาดว่าอาจต้องมีค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแบตเตอรี่บ้างก่อนครบเวลานั้น)
แต่ถ้าจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่แค่ให้พอที่จะชาร์จสำหรับการเดินทางช่วงสั้นๆ ไม่กี่สิบกิโลเมตรในแต่ละวันนั้น (ซึ่งใช้ไฟไม่น่าจะเกินที่แผงขนาด 5 kW ที่ติดตั้งกันทั่วไปจะผลิตได้ใน 1 วัน) พอจะทำได้ แต่ต้องคำนวณถึงความคุ้มค่าให้ละเอียด โดยคาดว่าน่าจะใช้งบลงทุนคร่าวๆ 3-4 แสนบาท ซึ่งต้องไปเทียบกับการประหยัดค่าไฟโดยใช้วิธีอื่น เช่น การขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าแบบ TOU ที่คิดค่าไฟในเวลากลางคืนและวันหยุดถูกกว่าปกติ อาจจะคุ้มค่าและลงทุนน้อยกว่า
ข้อมูลจากหนังสือ : รถไฟฟ้า EV 101
ซื้อได้ที่ : https://www.dplusshop.com/p/608