รถไฟฟ้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่ารถใช้น้ำมันจริงหรือ?

ในส่วนของผู้ใช้ จะเห็นได้ชัดเจนว่าในขณะใช้งานนั้น รถไฟฟ้าไม่มีการปล่อยไอเสียหรือมลพิษต่่างๆ ออกสู่อากาศเลย ทำให้อากาศสะอาดกว่า 100%

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าในการผลิตไฟฟ้าเพื่อมาชาร์จรถไฟฟ้านั้นก็ต้องมาจากโรงไฟฟ้าซึ่งอาจมีที่มาของพลังงานได้หลายทาง เช่น ใช้น้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติมาเดินเครื่องยนต์เพื่อปั่นไฟใช้พลังงานธรรมชาติ เช่น ลมหรือน้ำจากเขื่อน หรือใช้พลังงานนิวเคลียร์ (ซึ่งบ้านเรายงไม่มี) ในส่วนที่ใช้น้ำมันหรือก๊าซธรรมชาตินั้นก็ยังเป็นกระบวนการเผาไหม้ที่มีไอเสียเกิดขึ้นอยู่ดี แต่เกิดในโรงไฟฟ้าที่มักจะไม่ได้อยู่ใกล้แหล่งชุมชน เครื่องจักรที่ใช้ก็ได้รับการดูแลให้ทำงานได้โดยมีประสิทธิภาพสูง และมีการควบคุมเรื่องมลพิษรัดกุมกว่าเครื่องยนต์ขนาดเล็กในรถยนต์แต่ละคันที่มีสภาพและการบำรุงรักษาไม่เท่ากัน

นอกจากนี้กระบวนการผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งแบตเตอรี่ขนาดใหญ่มากที่ใช้กับรถไฟฟ้า (ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นแบตเตอรี่ลิเธียมที่ใช้ธาตุหายากหรือมีปริมาณจำกัดในผิวโลก ที่จัดอยู่ในกลุ่ม Rare Earth เช่น ลิเธียม นิเกิล) เป็นกระบวนการที่่ใช้สารเคมีเป็นหลักและในปริมาณมาก นอกจากนี้ยังมีกระบวนการที่เกี่ยวข้องในการรีไซเคิลหรือทำลายแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ที่หมดอายุใช้งานด้วย ซึ่งหากไม่จัดการให้เหมาะสมจะเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้มาก ด้วยเหตุนี้จึงมีความพยายามผลักดันให้มีการนำธาตุหายากในแบตเตอรี่เหล่านั้นกลับมาใช้งานใหม่โดยผ่านกระบวนการรีไซเคิลที่เหมาะสมและไม่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องจัดการให้สอดคล้องกับปริมาณการใช้งานรถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้เรายังได้เห็นแนวโน้มการลดสัดส่วนของโลหะซึ่งเป็นพิษหรือมีอันตราย เช่น โคบอลต์ และลิเธียม ให้น้อยลงในแบตเตอรี่รุ่นใหม่ รวมถึงเทคโนโลยีที่ใช้ธาตุซึ่งหาได้ง่ายในธรรมชาติ เช่น โซเดียม มาทำแบตเตอรี่ด้วย

ข้อมูลจากหนังสือ : รถไฟฟ้า EV 101
ซื้อได้ที่ : https://www.dplusshop.com/p/608