รถยนต์ไฟฟ้าแรงกว่ารถใช้น้ำมันจริงมั้ย?

จริง ถ้ามอเตอร์ที่ใช้มีกำลังและแรงบิดใกล้เคียงกับเครื่องยนต์ เพราะมอเตอร์ไฟฟ้ามีคุณสมบัติที่สามารถสร้างแรงบิดสูงได้ทันทีที่เริ่มต้นทำงาน โดยไม่ต้องรอเร่งเครื่องขึ้นไปให้ถึงรอบสูงๆ เหมือนเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้น้ำมัน ซึ่งจะต้องใช้เวลาเล็กน้อยในการเร่งเครื่องก่อน เมื่อเครื่องยนต์ทำงานที่รอบสูงแล้วถึงจะมีกำลังมากและทำให้รถพุ่งออกไปได้ ดังนั้นการเหยียบคันเร่งจึงทำให้รถไฟฟ้าพุ่งออกตัวได้อย่างรวดเร็วในทันทีเกิดเป็นความรู้สึกที่ว่า “แรงติดเท้า” กว่ารถน้ำมัน ชนิดที่รถ EV ราคาไม่ถึงล้าน สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม. ได้สูสีกับรถสปอร์ตใช้น้ำมันราคาหลักล้าน (แต่ตอนเบรคเป็นอีกเรื่องนึง)

แต่รถไฟฟ้าก็มักจะมีข้อจำกัดที่ความเร็วปลายที่ต่ำกว่ารถน้ำมัน เพราะการที่มีแรงบิดสูงตั้งแต่รอบต่ำๆ จนถึงรอบสูง จึงไม่จำเป็นต้องมีระบบเกียร์เพื่อทดรอบให้สัดส่วนการหมุนของล้อกับมอเตอร์สูงขึ้นเหมือนรถน้ำมัน ดังนั้นเมื่อมอเตอร์หมุนถึงรอบสูงที่เป็นขีดจำกัด ล้อก็ไม่สามารถหมุนเร็วกว่านั้นได้อีก ความเร็วปลายของรถไฟฟ้าทั่วๆ ไปจึงมักอยู่ที่ประมาณ 180 กม./ ชม. (ซึ่งแค่นั้นก็ถือว่าสูงพอสมควรในการขับบนถนนทั่วๆ ไปแล้ว แถมยังสามารถเร่งขึ้นถึงความเร็วปลายที่ว่าได้จริงภายในเวลาสั้นๆ เท่านั้น) ส่วนรถสปอร์ตที่เน้นทำความเร็วสูงกว่านั้น เช่น 200-250 กม./ ชม. อาจใช้มอเตอร์ที่ออกแบบมาให้ทำรอบปลายๆ ได้สูงขึ้น หรือไม่ก็มีการใช้ระบบเกียร์เข้ามาช่วยทดเพิ่มรอบการหมุนของล้อก็มี

นอกจากนี้รถไฟฟ้าหลายรุ่นก็จะมี option หรือโมเดลที่ใส่มอเตอร์มาให้หลายตัว หรือใช้มอเตอร์กำลังสูงมาให้เป็นตัวเลือกด้วย เช่นมีรุ่น Rear-Wheel Drive (RWD) ใช้มอเตอร์ขับเฉพาะล้อคู่หลัง กับรุ่น 4WD (4-Wheel Drive) หรือ AWD (All-Wheel Drive) ที่ใช้มอเตอร์สองชุด ขับเพลาคู่หน้า-หลังแยกกัน ซึ่งจะกินไฟมากกว่า จึงต้องมากับแบตเตอรี่ที่ใหญ่ขึ้นด้วย

ข้อมูลจากหนังสือ : รถไฟฟ้า EV 101
ซื้อได้ที่ : https://www.dplusshop.com/p/608