การชาร์จรถไฟการชาร์จรถไฟEV ยังใช้เวลานานกว่าเติมน้ำมัน

จุดนี้เป็นข้อจำกัดใหญ่ที่สุดข้อหนึ่งของรถไฟฟ้าในปัจจุบันที่การชาร์จแบตเตอรี่ยังใช้เวลาค่อนข้างนานเมื่อเทียบกับการเติมน้ำมันเต็มถังใน 2 – 3 นาที แต่การชาร์จรถไฟฟ้ายังใช้เวลาตั้งแต่หลายสิบนาที ไปจนถึงเป็นสิบชั่วโมง ขึ้นกับเครื่องชาร์จและความสามารถของรถและแบตเตอรี่ในการรับด้วย โดยแบ่งเป็น 2 ระบบการชาร์จคือ

1. เครื่องชาร์จเร็ว ด้วยไฟกระแสตรงหรือ DC (DC Fast Charge) เช่นตามสถานีชาร์จสาธารณะที่สามารถอัดไฟเข้ารถได้ในอัตราสูง เช่น 50-250 kW แต่ก็ขึ้นกับว่าวงจรจัดการแบตเตอรี่ (BMS – Battery Management System) ที่คอยดูแลการรับและจ่ายกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ จะรองรับไฟเข้าได้เร็วแค่ไหน รถส่วนมากไม่เกิน 100-150 kW ซึ่งจะชาร์จได้ถึงระดับพลังงาน 80% ในเวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง ดังนั้นถึงเครื่องชาร์จจะแรงกว่านั้นก็ไม่เร็วขึ้นไปอีก

อีกประเด็นที่ต้องรู้คือแบตเตอรี่ของรถไฟฟ้าเมื่อชาร์จด้วยไฟกระแสตรง จะรับไฟได้ในในอัตราที่เร็วจนถึงระดับแค่ 80-85% โดยประมาณเท่านั้น พอเกินนั้นไปไฟจะเข้าช้าๆ คล้ายๆ เครื่องชาร์จแบบ AC ซึ่งทำให้ใช้เวลาช่วง 80-100% นานเป็นชั่วโมง (ในขณะที่ก่อน 80% ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง) จึงไม่นิยมชาร์จต่อ นอกจากจะไม่มีใครรอหรือจองไว้เลยจริงๆ เพราะอาจถูกเจ้าของรถคันอื่นที่รอเขม่นเอาได้

2. เครื่องชาร์จแบบทั่วไป เช่น ตามบ้าน (AC Wall charger) หรือเครื่องชาร์จสาธารณะแบบ AC (AC Slow Charge) เครื่องชาร์จแบบนี้ใช้ไฟกระแสสลับหรือ AC ที่จ่ายไฟเข้ารถได้ไม่เกิน 7 kW สำหรับเครื่องที่ใช้ไฟ 1 เฟส และ 22 kW สำหรับไฟ 3 เฟส (หรือถ้าเป็นการชาร์จด้วยสายชาร์จฉุกเฉินหรือ Emergency Charging Cable ที่เสียบปลั๊กไฟบ้าน ก็ได้กระแสไฟไม่เกิน 10-16 W ตามข้อจำกัดของปลั๊กหรือประมาณ 3.5 kW เท่านั้น

นอกจากจะจำกัดที่เครื่องชาร์จหรือสายแล้ว เวลาชาร์จจริงจะเร็วช้าแค่ไหนยังต้องไปดูอีกว่าตัวแปลงกระแสสลับเป็นกระแสตรง (DC to AC) ในรถแต่ละคัน ที่เรียกว่า On-Board Charger หรือ OBC ที่ต้องจ่ายไฟผ่าน (ต่างกับแบบ DC Fast Charge ที่ส่งไฟเข้าแบตเตอรี่โดยไม่ผ่าน OBC) สามารถรองรับการชาร์จได้เร็วแค่ไหน (ณ ปัจจุบันรถทั่วไปประมาณ 7 KWh รุ่นเร็วหน่อยก็แค่ 11 kW น้อยรุ่นที่จะรับถึง 22 kW ที่ต้องใช้เครื่องชาร์จ AC แบบที่ติดตั้งกับไฟ 3 เฟสถึงจะได้ ถึงบอกในตอนก่อนนี้ว่าวันนี้การติดตั้งเครื่องชาร์จ AC 3 เฟสยังอาจไม่จำเป็น แต่อนาคตก็เป็นไปได้)

อย่างไรก็ตามจากเทคโนโลยีที่ดีขึ้นก็ทำให้การชาร์จเร็วขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชาร์จไม่เต็ม 100% เช่น ชาร์จแค่ให้ได้ระยะทางมากพอเดินทางต่อถึงบ้าน หรือชาร์จพอให้วิ่งต่อไปถึงจุดที่พักซึ่งสามารถจอดชาร์จนานข้ามคืนได้ อาจใช้เวลาแค่ไม่กี่สิบนาทีหรือครึ่งชั่วโมงในรถรุ่นใหม่ๆ

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาแบตเตอรี่ใหม่ๆ ที่ชาร์จได้เร็วขึ้น และทนต่อการชาร์จเร็วบ่อยๆ โดยไม่ร้อนจัด ไม่เสื่อมสภาพเร็วขึ้น และมีเทคโนโลยีอื่น เช่น ใช้ตัวเก็บประจุยิ่งยวด (Supercapacitor) ที่รับและจ่ายไฟมหาศาลได้แทบจะในทันที (แต่เก็บไม่ได้นานเท่าแบตเตอรี่) มาช่วยรับไฟตอนชาร์จแบบเร็วจี๋ แล้วทยอยส่งไฟเข้าแบตเตอรี่อย่างช้าๆ อีกทีหนึ่ง ซึ่งยังแพงมากและอยู่ในขั้นทดลอง แต่ถ้าใช้จริงได้ก็อาจลดเวลาชาร์จไฟจากครึ่งชั่วโมงลงเหลือไม่กี่นาที จนใกล้เคียงที่ใช้เวลาเติมน้ำมัน (“3 นาทีเต็มถัง”) ได้พอสมควร

เราคงได้เห็นพัฒนาการในด้านความเร็วของการชาร์จที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ตู้ชาร์จที่ติดตั้งด้วยว่าจะสามารถจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้มากจนเต็มขีดจำกัดที่รถจะรับได้หรือเปล่า นอกจากนี้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายังให้คำแนะนำว่า ในการใช้งานประจำวันทั่วไปที่ไม่ใช่การเดินทางไกล การชาร์จแบบช้าที่บ้านจะช่วยถนอมแบตเตอรี่ให้มีอายุใช้งานนานขึ้นอีกด้วย

ข้อมูลจากหนังสือ : รถไฟฟ้า EV 101
ซื้อได้ที่ : https://www.dplusshop.com/p/608