ปัจจบันรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ มักใช้แบตเตอรี่ลิเธียมที่มีความจุพลังงานไม่น้อยกว่า 50 kWh ซึ่งมากพอที่จะวิ่งได้ไกลไม่น้อยกว่่า 340 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้งแล้ว (วิ่งจริงอาจเหลือประมาณ 300 กม. ขึ้นกับสภาพการขับขี่) หลายรุ่นใช้แบตเตอรี่ใหญ่กว่านี้ซึ่งทำให้ระยะทางที่วิ่งได้หรือ range ได้เพิ่มขึ้นเป็น 400 – 600 กม. หรือมากกว่านั้น อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติจะมีพลังงานที่ใช้ได้จริงในแบตเตอรี่ระหว่าง 15 – 85% โดยประมาณ ซึ่งคิดเป็นแค่ 70% ของความจุทั้งหมด ทำให้ระยะวิ่งทางไกลจริงๆ ที่ใช้ได้อยู่ประมาณ 210-238 กม. (ดังรูป)
ทั้งนี้รถบางรุ่นอาจใช้แบตเตอรี่ที่ความจุพลังงานสูงเป็นพิเศษ หรือใส่แบตเตอรี่เข้าไปมากก้อน (เซล) ขึ้น เช่น มากกว่า 100 kWh ทำให้วิ่งได้ไกลถึง 600-700 กม. หรือมากกว่านั้นด้วยซ้ำ (ประมาณว่าวิ่งจากกรุงเทพถึงเชียงใหม่ได้เลยโดยไม่ต้องแวะชาร์จ) ทำให้สามารถวิ่งทางไกลได้โดยเสียเวลาจอดชาร์จน้อยครั้งลง แต่ก็มีสิ่งที่ต้องแลกเปลี่ยนคือ
– ต้องใช้เวลาในการชาร์จแต่ละครั้งนานขึ้น เช่นถ้าเป็นระบบชาร์จเร็วกระแสตรง (DC) ก็ยังต้องใช้เวลาชาร์จ 0-80% อาจจะนานถึง 1-2 ชั่วโมง ยิ่งถ้าไปเจอระบบชาร์จช้าด้วยไฟฟ้าหระแสสลับ (AC) อาจจะใช้เวลาเกือบ 24 ชม. กว่าจะชาร์จเต็ม (รายละเอียดเรื่องการชาร์จจะอยู่ในบทความต่อๆ ไป)
– ต้องแบกน้ำหนักแบตเตอรี่มากขึ้น ทำให้น้ำหนักรวมของรถมากขึ้นตามไปด้วย คิดคร่าวๆ ก็ประมาณ 1 กิโลกรัม ต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร ดังนั้นถ้าวิ่งได้ 700 กม. แบตเตอรี่ก็น่าจะหนักไม่น้อยกว่า 6-7 ร้อยกิโลกรัม
ทั้งนี้ตัวเลขที่บอกว่ารถวิ่งได้ไกลแค่ไหน (EV range) นี้ก็จะอ้างอิงการทดสอบ ซึ่งมีหลายมาตรฐาน เช่น NEDC, WLTP, EPA เป็นต้น ซึ่งตัวเลขจะออกมาไม่เท่ากัน ขึ้นกับเงื่อนไขและระเบียบวิธีการทดสอบของแต่ละมาตรฐาน ซึ่งจะได้ผลออกมาไม่เท่ากัน เพราะมีเงื่อนไขหรือสภาวะในการทดสอบที่แตกต่างกัน ที่นิยมอ้างถึงของรถไฟฟ้าที่ขายในประเทศไทยในปัจจุบันคือ WLTP ซึ่งรถรุ่นใหม่ๆ มักทดสอบตามมาตรฐานนี้ได้ประมาณ 300-340 กม. ขึ้นไป
ข้อมูลจากหนังสือ : รถไฟฟ้า EV 101
ซื้อได้ที่ : https://www.dplusshop.com/p/608