หน่วยไฟฟ้าน่าปวดหัว แต่ต้องเข้าใจ – kW หรือ kWh?

ยุคนี้คนทั่วๆ ไปอย่างคุณ อย่างผม หรือใครๆ ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (BEV) หรือ ติดตั้งระบบแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) ที่บ้าน ก็จะได้ยินคำศัพท์ที่น่าสับสนอยู่สองคำ คือ กิโลวัตต์ (kW) กับ กิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh) ซึ่งต่างก็เป็นหน่วยวัดไฟฟ้าทั้งคู่ มาดูกันดีกว่าว่ามันต่างกันยังไง และมีผลกับชีวิตเรายังไง

ในกรณีของรถยนต์ไฟฟ้า เรามักจะได้ยินการโฆษณาความจุของแบตเตอรี่ลิเทียมที่ใช้ขับเคลื่อนรถว่ามีความจุเท่านั้นเท่านี้ กิโลวัตต์-ชั่วโมง (kilowatt-hour ย่อว่า kWh) ซึ่งถ้าตัวเลขยิ่งมาก รถก็มักจะวิ่งได้ไกลขึ้น แต่ในตอนที่ชาร์จไฟเข้ารถ เรากลับได้ยินว่ารถคันนี้มีความสามารถรับไฟได้กี่กิโลวัตต์ (kilowatt ย่อว่า kW) แต่ไม่มีชั่วโมง ยิ่งตัวเลขมากก็แสดงว่าชาร์จได้เร็ว ใช้เวลาชาร์จน้อย

ที่จริงสองคำนี้เป็นเรื่องเดียวกันตรงๆ เลย kW ก็คืออัตราการไหลของพลังงานไฟฟ้าว่าไหลเร็วหรือช้า ส่วน kWh  ก็คือปริมาณของพลังงานไฟฟ้าที่ได้รับเข้าไปหรือเก็บเอาไว้ เช่น ชาร์จไฟด้วยอัตราเร็ว 7 กิโลวัตต์ (kW) ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน 7 ชั่วโมง ก็จะได้ปริมาณพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดเข้าไปเก็บในแบตเตอรี่ (ในหน่วย กิโลวัตต์-ชั่วโมง หรือ คิดง่ายๆว่า “กิโลวัตต์คูณชั่วโมง”) เท่ากับ 7 × 7 = 49 กิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh) ซึ่งตัวเลข 49 kWh นี้ก็ใกล้เคียงความจุของแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าทั่วๆ ไปที่มีขนาด 50 kWh นั่นเอง เราถึงบอกได้ว่าใช้เวลาชาร์จประมาณ 7 ชั่วโมงเศษๆ ถึงจะเต็ม 

ถ้าจะเทียบกับรถน้ำมันให้เห็นภาพ ลองนึกถึงถังน้ำมันในรถ ซึ่งมี “ความจุ” 50 ลิตร เติมน้ำมันใน “อัตราเร็ว” หรือ “อัตราการไหล” 7 ลิตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมงก็จะได้ 49 ลิตรหรือประมาณ 50 ลิตรเต็มถังนั่นเอง เทียบกับกรณีของรถไฟฟ้า “ความจุพลังงานไฟฟ้าในรถ” จะวัดเป็น kWh ส่วนอัตราเร็ว “ในการเติมไฟเข้ารถ” วัดเป็น kW นั่นเอง

ในกรณีของโซลาร์เซลล์ การผลิตไฟฟ้าจากแผงที่รับแสงอาทิตย์จะเหมือนกับการจ่ายไฟฟ้าให้ไหลออกมา ซึ่งก็วัด “อัตรา” การไหลของพลังงานไฟฟ้านี้ได้ในหน่วย กิโลวัตต์ (kW) เช่นกัน ดังนั้นแผงโซลาร์เซลล์ที่มีกำลังผลิต 10 kW ก็จะจ่ายไฟได้เร็วหรือจ่ายได้ในอัตราที่มากเป็นสองเท่าของแผงที่มีกำลังผลิต 5 กิโลวัตต์ ส่วนจะจ่ายไปเก็บในแบตเตอรี่ หรือจะทดแทนไฟที่ต้องซื้อจากการไฟฟ้า ก็ต้องมาดูต่อว่า ที่อัตราการผลิตและจ่ายไฟออกมานั้น ทำได้นานกี่ชั่วโมงด้วย นั่นคือต้องวัด “ปริมาณ” ของพลังงานที่ได้ในหน่วย กิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh) 

ซึ่งหน่วยของพลังงานไฟฟ้าที่เป็น kWh นี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “หน่วย” หรือ Unit ซึ่งก็เป็นหน่วยเดียวกับที่การไฟฟ้ามาคิดค่าไฟจากเราในแต่ละเดือนนั่นเอง ไม่ว่าจะคิดแบบขั้นบันไดสำหรับบ้านเรือนทั่วไป เช่น 15 หน่วยแรก คิดหน่วยละ 2.3488 บาท หรือส่วนที่เกิน 400 หน่วยคิดหน่วยละ 4.4217 บาท เป็นต้น หรือใครที่ใช้ไฟกลางวันน้อย กลางคืนเยอะ อาจไปขอมิเตอร์ใหม่ที่คิดแบบตามเวลาที่ใช้ (TOU หรือ Time Of Use) ที่คิดค่าไฟอัตราแพง คือหน่วยละ 5.7982 บาทในตอนกลางวัน 9:00 – 22:00 วันจันทร์ถึงศุกร์ และคิดค่าไฟอัตราถูก คือหน่วยละ 2.6369 บาท ระหว่างเวลา 22:00-09:00 วันจันทร์ถึงศุกร์ และในวันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ทั้งวันด้วย (อ้างอิงค่าไฟการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ปี 2561) 

สรุปคือจำง่ายๆ ว่า kW เป็น ” อัตราความเร็วในการใช้ไฟฟ้า” ส่วน ” kWh เป็น ” ปริมาณไฟฟ้าที่ไหลผ่านหรือจัดเก็บไว้ในแบตเตอรี่” โดยมีความสัมพันธ์กันคือ ถ้าจ่ายไฟ 1 kW ต่อเนื่องนาน 1 ชั่วโมงก็จะได้ปริมาณไฟฟ้า 1 kWh นั่นเอง