ลงทุนติดแผงโซลาร์ ได้คืนค่าไฟวันละกี่บาท?

ยุคนี้มองไปตามหลังคาบ้านหลายๆ หลังเริ่มเห็นมีการติดแผงโซล่าเซลล์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองกันมากพอสมควร และนับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคำถามแรกของเจ้าของบ้านทุกคนที่จะลงทุนติดโซลาร์เซลล์ก็คือ ติดแล้วจะลดค่าไฟได้วันละเท่าไหร่?

คิดอย่างง่ายๆ ถ้าติดแผงโซลาร์เซลล์ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้า 5 กิโลวัตต์ (5kW) เมืองไทยแดดดี๊ดี วันนึงมีเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงตกไม่ต่ำกว่า 12 ชั่วโมง ก็น่าจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ไม่น้อยกว่า 10 × 6 เท่ากับ 60 กิโลวัตต์ จะมากน้อยกว่านี้ก็คงจะไม่เท่าไหร่ต่างกันซัก (มั้ง?)

หยุดก่อนครับ! อย่าเพิ่งคิดต่อไปไกล ดูเหมือนธรรมชาติจะไม่ใจดีขนาดนั้น

เวลาที่มีแดดทั้งวันนี่ ไม่ใช่ว่าโซลาร์เซลล์จะผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เต็มที่ตามสเป็คที่ระบุทั้งวันไปด้วย เพราะสเปคที่กำหนดไว้ 5 กิโลวัตต์นี่คือตอนที่ผลิตได้เต็มที่ 100% ซึ่งหมายถึงว่าแสงอาทิตย์จะต้องส่องตั้งฉากเต็มที่กับแผงโซลาร์ด้วย ถ้าแสงอาทิตย์ส่องลงมาไม่เต็มที่ เช่นแสงอ่อนๆ ตอนเช้าๆ เย็นๆ หรือแม้แต่ตอนสาย เที่ยง หรือบ่าย ที่แดดแรง แต่แสงตกกระทบไม่ตั้งฉากกับแผงแบบเต็มๆ ก็จะผลิตไฟฟ้าได้ไม่ถึง 100% ไปด้วย

ถ้างั้นไฟฟ้าที่ผลิตได้จริงๆ จะลดจากที่คำนวณไว้ไปมากน้อยแค่ไหนล่ะ? ก่อนจะตอบคำถามนี้เรามาลองดูกราฟของพลังงานไฟฟ้าที่แผงโซลาร์เซลล์ได้รับจริงในแต่ละวันตามช่วงเวลากันก่อน ซึ่งจะออกมาเป็นกราฟคล้ายรูประฆังคว่ำ อันนี้คือพลังงานที่ตกกระทบแผง ซึ่งสูงสุดประมาณ 1,000 วัตต์ หรือ 1 kW ต่อตารางเมตรนะครับ ที่ผลิตได้จริงจะเป็นไปตามประสิทธิภาพของแผง ซึ่งดีที่สุดในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 20% หรือ 200 วัตต์ต่อตารางเมตรเท่านั้น

ทีนี้ก็คำนวณยากละสิ เพราะว่ามันได้ตัวเลขไม่เท่ากันตลอดเวลา แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าวันนึงผลิตไฟฟ้าได้กี่หน่วย ความจริงคำตอบของปัญหานี้ไม่ยาก เพราะว่าในขณะที่แกนตั้งของกราฟเป็นกำลังไฟฟ้าที่หน่วยกิโลวัตต์ แกนนอนคือระยะเวลาซึ่งมีหน่วยเป็นชั่วโมงอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าอยากรู้ว่าวันนึงผลิตไฟได้กี่กิโลวัตต์-ชั่วโมง

(kWh หรือ Unit คือหน่วยเดียวกับที่การไฟฟ้าเอามาคิดเงินค่าไฟจากเราในแต่ละเดือนนั่นเอง) ก็แค่หาพื้นที่ของรูปกราฟทั้งหมดในวันหนึ่งๆ ออกมา

ตัวอย่างการคำนวณ Peak Sun Hour (สี่เหลี่ยมสีเหลือง) เทียบกับรูปกราฟพลังงานที่ได้รับจริง ณ เวลาต่างๆ (กราฟสีฟ้า) โดยสมมติดวงอาทิตย์วันนั้นขึ้นเวลา 5:50 น. ตกเวลา 18:35 น.

ดูกราฟที่แปลงจากรูประฆังคว่ำให้กลายเป็นรูปสี่เหลี่ยมที่มีพื้นที่เทียบเท่ากัน หลายคนก็คงจะเดาได้แล้วว่า ในความเป็นจริงเราสามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงสุดไม่ถึงครึ่งของที่เราคาดไว้ตั้งแต่แรก พื้นที่ใต้รูประฆังคว่ำในแต่ละวันจะเทียบเท่ากับพื้นที่สี่เหลี่ยมที่สูง 100% ของพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้รับ แต่มีฐานกว้างแค่ 4-5 ชั่วโมงเศษๆ เท่านั้น แปลว่าในหนึ่งวันเราจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้คิดเทียบเท่ากำลังผลิต 100 เปอร์เซ็นต์ (เช่น 5 กิโลวัตต์) เป็นเวลานานประมาณ 4 -5 ชั่วโมง ก็คือ 20 – 25 หน่วยต่อวันเท่านั้น

เจ้าค่าตัวเลข “เทียบเท่า” 4-5 ชั่วโมงนี่แหละที่ถูกนำไปใช้ประมาณความคุ้มค่าตอนที่จะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพราะมันเป็นค่าที่เอาไปใช้คำนวณต่อได้ง่าย และเป็นค่าที่เปลี่ยนแปลงไปตามหลายปัจจัย เช่น ที่ตั้งบนพื้นโลก (ยิ่งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น ประเทศและเมืองต่างๆ จึงไม่เท่ากัน) ฤดูกาล (ในประเทศเขตอบอุ่น หน้าร้อนจะมีแดดยาวนานกว่าหน้าหนาวอย่างเห็นได้ชัด จึงต้องเอาค่าทั้งปีมาเฉลี่ย) และอื่นๆ โดยมีชื่อเรียกว่า Peak Sun Hour (PSH) หมายความว่า “เทียบเท่าเวลาที่แสงส่องเต็ม 100% คิดเป็นกี่ชั่วโมงต่อวัน” ซึ่งสำหรับประเทศไทยมีค่า PSH นี้ประมาณอยู่ระหว่าง 4 ถึง 5.5 ชั่วโมง

กลับมาที่ตัวเลขการผลิตไฟฟ้าวันละ 20-27.5 หน่วย คิดค่าไฟหน่วยละ 4.4 บาท ก็เป็นเงินวันละร้อยกว่าบาท หรือเดือนละ 3,000 กว่าบาท ดูคร่าวๆ แล้วก็ยังโอเค เพราะถ้าติดตั้งระบบขนาด 5 kW ราคาแสนบาทปลายๆ สมมติ 180,000 ลดค่าไฟได้วันละ 100 บาท ก็คืนทุนใน 1,800 วัน หรือไม่ถึง 6 ปี

แต่มีปัจจัยอีกข้อที่จะกำหนดว่าเราจะประหยัดค่าไฟได้เท่าไหร่ คือ การไฟฟ้ากำหนดให้ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์เซลล์ สามารถใช้เองเพื่อลดปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่รับจากการไฟฟ้าได้ (ลดค่าไฟ) แต่ห้ามส่งออกไปข้างนอก (Zero Export) คือบังคับติดอุปกรณ์ป้องกันไว้ (นอกจากจะทำสัญญาขายคืนไฟฟ้าไว้ก่อน ซึ่งจะขายได้ที่ราคาประมาณ 2 บาทเศษๆ หรือครึ่งเดียวของค่าไฟที่รับมาใช้) ดังนั้นถ้าตอนที่แดดจัดๆ ผลิตไฟได้มาก แต่เราดันไม่มีที่จะใช้ไฟที่ผลิตได้ ก็จะเสียของไปเปล่าๆ ส่งออกไปขายก็ไม่ได้ ระบบก็จะไม่ผลิตไฟเพิ่ม ทำให้ปริมาณของพลังงานไฟฟ้าผลิตที่ได้ทั้งวันลดน้อยลงไปอีก

ดังนั้นการติดโซลาร์เซลล์ให้คุ้มค่า จะต้องเป็นบ้านที่ใช้ไฟมากตอนกลางวัน หรือโดยเฉพาะช่วงสาย-เที่ยง- บ่าย ที่โซลาร์เซลล์ผลิตไฟได้มาก ถึงจะคุ้มค่าครับ ถ้าไปใช้เยอะๆ ตอนกลางคืนมากกว่ากลางวัน อย่างเช่นการชาร์จรถไฟฟ้า (BEV) ก็อาจต้องลงทุนติดตั้งระบบเก็บไฟฟ้าหรือ แบตเตอรี่ ซึ่งจะแพงขึ้นไปอีกพอสมควร หรือไม่ก็ทำสัญญาขายไฟฟ้าที่ผลิตได้คืนให้การไฟฟ้าเพื่อลดค่าไฟไว้ด้วยเลย

มิเตอร์แบบ TOU อีกทางเลือกค่าไฟถูกตอนกลางคืน

มิเตอร์ไฟฟ้าแบบ TOU

ถ้ายังไม่อยากลงทุนค่าแบตเตอรี่สำหรับเก็บพลังงานไฟฟ้า ก็แนะนำให้ไปขอเปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบ ToU ที่คิดค่าไฟแยก 2 เป็นช่วงเวลาการใช้งาน (ถึงเรียกว่า Time of Use หรอื ToU) ซึ่งเป็นมิเตอร์ระบบดิจิตอลที่บันทึกข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของเราโดยแยกเป็นปริมาณการใช้งานในแต่ละช่วงเวลาได้ด้วย ปกติจะบันทึกค่าเป็นช่วงสั้น ช่วงละ 15 นาที แล้วจึงนำข้อมูลทั้งหมดที่เก็บมาคำนวณว่าค่าไฟแต่ละช่วงนั้นจะคิดอัตราเท่าไหร่ โดยถ้าเป็นช่วงกลางวันวันทำงานธรรมดา จันทร์-ศุกร์ ระหว่างเวลา 9:00 – 22:00 น. จะคิดค่าไฟแพง ตกหน่วยละ 5 บาทกว่า (ค่าไฟเดิมแบบที่คิดในอัตราเท่ากันทั้งวัน อัตราสูงสุดยังแค่หน่วยละ 4 บาทกว่าเท่านั้น) แต่กลางคืนตั้งแต่ช่วงเวลา 22:00 – 9:00 ทุกวัน และช่วงเสาร์-อาทิตย์ รวมถึงวันหยุดราชการทั้งวัน (24 ชม.) คิดค่าไฟถูก คืออัตราเพียงหน่วยละ 2 บาทกว่าๆ เท่านั้น (ซึ่งวันไหนจัดเป็นวันหยุดราชการที่คิดค่าไฟถูกนั้น ทางการไฟฟ้าจะต้องมีประกาศแจ้งให้ทราบล่วงหน้าเป็นแต่ละปีไป)

มิเตอร์แบบนี้จะช่วยลดค่าไฟได้มากสำหรับคนที่ใช้ไฟช่วงกลางคืนมากกว่ากลางวัน รวมถึงคนที่ใช้ไฟกลางวันมาก แต่ติดแผงโซลาร์เซลล์ช่วยผลิตไฟฟ้า เพื่อลดการใช้ไฟจากการไฟฟ้าในช่วงกลางวันไว้ด้วย แต่ถ้าบ้านใครรู้ตัวว่าใช้ไฟกลางวันมากกว่ากลางคืนแล้วยังไม่ติดโซลาร์เซลล์ช่วยใดๆ ก็อย่าเพิ่งไปขอเปลี่ยนมิเตอร์และวิธีคิดค่าไฟมาเป็นแบบนี้นะครับ เพราะนอกจากจะเสียค่าเปลี่ยนมิเตอร์ (หลักหลายพันบาท) แล้ว ยังทำให้เสียค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นด้วยแน่ๆ

——- เนื้อหาเรียบเรียงจากหนังสือ “โซลาร์เซลล์ 101” จัดพิมพ์โดย โปรวิชั่น ——–