สวัสดี Meta Platform Inc.!

แอดมาเล่าเรื่องข่าว Facebook เปลี่ยนชื่อบริษัท ขอบันทึกประเด็นที่คิดแบบเร็วๆ ออกไว้เป็นแนวถาม-ตอบประมาณนี้ละกันนะครับ

𝗤: Meta Platforms (ชื่อใหม่ของบริษัท Facebook) ต่างหรือเหมือนกับ Metaverse ที่เป็นคำเพิ่งจะฮิตขึ้นมาเร็วๆ นี้ (และถูกนำไปถามแม้แต่บนเวทีนางงามด้วย) อย่างไร?

.

𝗔: Metaverse สรุปคร่าวๆ ก็คือโลกเสมือนที่อยู่บนออนไลน์ในแบบที่ผู้คนจำนวนมากสามารถเข้าไปใช้ชีวิตร่วมกัน มีปฏิสัมพันธ์กันได้แบบ (เกือบจะ) ครบวงจร มีตัวละครที่แทนผู้ใช้แต่ละคน (“ร่างอวตาร” หรือ Avatar) และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่โต้ตอบกับผู้ใช้ได้อย่างสมจริง ฯลฯ ส่วน Meta Platforms คือการเปลี่ยนชื่อบริษัทของ Facebook เพื่อแสดงว่าจะเอาจริงในเรื่องการสร้างโลกเสมือนหรือ Metaverse แล้วนะ โดยอาจจะใช้เทคโนโลยีหลายอย่าง ทั้ง AR /VR และอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงอาจจะไม่ใช่อยู่ในแพลตฟอร์มหรือบริการในแบบของ Facebook อย่างเดียว แต่อาจมีหลายแพลตฟอร์ม หลายบริการ หรือมีทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ผสมผสานกัน (สังเกตตัว s ท้ายคำว่า Platforms)

.

𝗤: ฟังดูน่าตื่นเต้น ว่าแต่มันใหม่จริงหรือเปล่า?

.

𝗔: แนวคิดเรื่องนี้มีมาหลายปีแล้ว เมื่อก่อนเราพูดถึง Cyberspace หรือโลกไซเบอร์ ซึ่งก็หมายถึงโลกออนไลน์นั่นเอง โดยนำคำจากนิยายวิทยาศาสตร์ (Sci-Fi) เรื่อง Neuromancer ของ William Gibson เมื่อปี 1984 มาใช้ ตอนนี้เราพูดถึง Metaverse ซึ่งก็เป็นคำที่ใช้เรียกโลกออนไลน์ที่อ้างอิงมาจากนิยายเช่นเดียวกัน คือเรื่อง Snow Crash ของ Neal Stephenson ในปี 1992 โดยมีข้อแตกต่างคือ Metaverse จะมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในการโต้ตอบกับผู้ใช้ (ตามยุคที่นิยายถูกแต่งขึ้นนั่นเอง) เช่นเป็นโลกสามมิติที่มีความสมจริงมากขึ้น ทั้งสิ่งแวดล้อมและการโต้ตอบกับร่างอวตารของผู้ใช้ หรือพอมาเป็นยุค 2021 นี่ก็เลยอาจมีการอ้างอิงโลกจริงมากขึ้น เช่นในเรื่องของทรัพย์สินต่างๆ หรือการชำระเงิน ที่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีบล็อคเชน (block chain) ต่างๆ เข้ามาช่วย เป็นต้น นอกจากนี้การจะได้รับประสบการณ์ที่สมจริงนั้นก็อาจจะต้องมีฮาร์ดแวร์ใหม่ๆ เข้ามาช่วย เช่น แว่นตา VR หรือมีการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆ ด้วย

.

ที่จริงก็มีหลายเกมออนไลน์ที่ทำแนวนี้มาหลายปีแล้ว อย่าง Second Life หรือ Minecraft ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง (บางประเทศอย่างสวีเดนเคยมีการเปิดสถานทูตอย่างเป็นทางการในโลกเสมือนของ Second Life ด้วย) แต่ไม่ถึงกับบูมมาก จำนวนผู้เล่นที่เคยเพิ่มสูงแล้วก็ทรงๆ หรือเพิ่มช้า อาจจะไม่ถูกทางจริงๆ หรือเพราะยังไม่ถึงเวลาก็ได้

.

𝗤: แสดงว่าในอนาคตบริการของ Facebook และโลกออนไลน์ต่างๆ ของเจ้าอื่นๆ จะมาแนวนี้กันหมดแล้วใช่มั้ย?

.

𝗔: ทั้งใช่ และไม่ใช่ เพราะเทคโนโลยีในการให้ประสบการณ์หรือโต้ตอบกับผู้ใช้นั้นได้ถูกพัฒนามาในแนวที่ให้ความสมจริงมากขึ้น เหมือนเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ (imersive) ซึ่งทำให้ผู้สร้างสรรค์บริการต่างๆ มีตัวเลือกให้ทดลองใช้มากขึ้น นอกจากที่มีแค่หน้าจอสี่เหลี่ยม กับข้อความ ภาพนิ่ง เสียง หรือวิดีโอแบบเดิมๆ แต่การนำเทคโนโลยีที่มีเหล่านี้ไปใช้สร้างโลกเสมือนยังไงนั้น เป็นเรื่องที่ต้องดูกันว่าสุดท้ายแล้วจะไปทางไหน มีอะไรที่จะดึงดูดให้คนสามารถหรือสนใจที่จะเข้าไปใช้ชีวิตในโลกเสมือนนั้นนานๆ ทั้งวันทั้งคืนได้ เพราะสุดท้ายคนก็ยังต้องทำกิจวัตรส่วนตัวต่างๆ ในโลกจริงอยู่ดี ดังนั้นตรงนี้จึงเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น

.

𝗤: ถ้างั้นแสดงว่ายังมีโอกาสที่จะมีอย่างอื่นมาเป็นผู้นำแทนที่ Facebook ใน Metaverse ได้?

.

𝗔: ถามยากอะ ตอบยาวๆ ละกันนะ คือในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา เราได้เห็นผู้นำทางเทคโนโลยีหลายๆ รายเติบโตขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ แต่ก็ยังไม่สามารถจะผูกขาดความเป็นผู้นำในทุกๆ ด้านหรือทุกๆ บริการได้ตลอดไป

.

สมัยหนึ่งที่เครื่อง PC (Personal Computer) เป็นสิ่งที่คนสนใจเป็นหลัก ระบบปฏิบัติการอย่าง Windows และแอพพลิเคชันอย่างชุด Office ของ Microsoft ก็ดูเหมือนจะครองความยิ่งใหญ่ จนมีการพูดกันเล่นๆ ถึง Windows เวอร์ชั่นที่ 1xx ขึ้นไป แต่แล้วโลกก็เปลี่ยนไป ทั้งๆ ที่โปรแกรมจาก Microsoft ยังทำได้ดีในระดับหนึ่งและครองความนิยมบนเครื่อง PC ได้อย่างเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนคือคนไม่ได้สนใจเครื่อง PC เป็นหลักอีกต่อไป หากแต่ย้ายความสนใจมาที่อินเทอร์เน็ตแทน ซึ่งทำให้ Google เติบโตอย่างมาก และต่อเนื่องมาจนถึงยุคที่สมาร์ทโฟนกลายมาเป็นอุปกรณ์หลักในการต่อเน็ต เราจึงได้เห็นทั้งการ Search และตัวเครื่องสมาร์ทโฟนระบบ Android เติบโตอย่างมากแทน ในขณะที่ Windows Mobile กลับไม่เกิด และทุกวันนี้บริการ Search อย่าง Bing ของ Microsoft ก็ยังเป็นแค่รายย่อยในตลาด

.