มารู้จักกับเซนเซอร์ (Sensor) ต่างๆ บนสมาร์ทโฟนกัน (ตอนที่ 4)

ยังอยู่กันที่เรื่องของเซนเซอร์ต่างๆ บนสมาร์ทโฟน อย่าเพิ่งเบื่อกันซะก่อนนะครับ ^^ เซนเซอร์ที่จะพาไปรู้จักในครั้งนี้จะเป็นเซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวของมือ (Gestures Sensor) และเซนเซอร์ตรวจจับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Geomagnetic Sensor) ทั้ง 2 ตัว มีประโยชน์อย่างไรในสมาร์ทโฟน ไปดูกันครับ ^^

Gestures Sensor

เป็นเซนเซอร์ที่ใช้ในการตรวจจับลักษณะการเคลื่อนไหวของฝ่ามือและลักษณะท่าทางของผู้ใช้งาน ด้วยลำแสงอินฟราเรดที่อยู่บริเวณด้านบนของหน้าจอ ที่ซึ่งไม่ได้เป็นการสัมผัสโดยตรงกับหน้าจอ เพียงแต่ผู้ใช้งานแสดงท่าทางต่างๆ ด้วยฝ่ามือ หรือท่าทางที่บริเวณหน้าจอให้ถูกต้อง ก็สามารถที่จะสั่งการต่างๆ ให้กับตัวเครื่องได้ ซึ่งฟังก์ชั่นการทำงานประเภทนี้ถูกเรียกว่า Air Gesture

เช่น หากจะเลื่อนดูรูปภาพในแกลเลอรี่หรือหน้าเว็บเพจ ก็ให้ใช้สันฝ่ามือกวาดผ่านหน้าจอหรือเซนเซอร์ไปทางซ้ายหรือขวา (Air Browse), หากจะหยุดเล่นเพลงชั่วคราวก็ให้ใช้ฝ่ามือบังหน้าจอหรือเซนเซอร์ (Quick Glance), หากจะเลื่อนหน้าจอขึ้น-ลงเพื่ออ่านเนื้อหาในอีเมล์หรือเว็บเพจต่างๆ ก็ให้ใช้สันฝ่ามือกวาดผ่านหน้าจอหรือเซนเซอร์ขึ้นหรือลง (Air Jump), หากมีสายเรียกเข้าก็ให้โบกฝ่ามือผ่านหน้าจอหรือเซนเซอร์ไปมาซ้ายขวาเพื่อรับสาย (Air Call-Accept), หากจะจับภาพหน้าจอ ก็ให้ใช้สันฝ่ามือกวาดผ่านหน้าจอเต็มๆ จากซ้ายไปขวา ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายฟังก์ชั่นที่ถูกใช้งานควบคู่กันกับ Gesture Sensor ยกตัวอย่างเช่น Smart Stay รองรับการตรวจจับสายตาของผู้ใช้ เพื่อการเปิดหน้าจอค้างไว้โดยอัตโนมัติ, Smart Pause รองรับการหยุดเล่นวิดีโอเมื่อหันหน้าออกจากหน้าจอ และเริ่มเล่นต่อเมื่อหันกลับมามองที่หน้าจอ และ Smart Scroll รองรับการตรวจจับสายตาของผู้ใช้ เพื่อการเลื่อนหน้าจอขึ้น-ลงโดยไม่ต้องสัมผัสกับหน้าจอ เป็นต้น

Geomagnetic Sensor

หรือเรียกอีกอย่างว่า Digital Compass ที่รู้จักกันในชื่อ เข็มทิศดิจิตอล นั่นเอง เป็นเซนเซอร์ที่ใช้ในการตรวจจับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าบนสมาร์ทโฟน ที่ใช้บอกได้ทั้งตำแหน่งของขั้วแม่เหล็กโลกและตำแหน่งของขั้วโลกทางภูมิศาสตร์จริง ซึ่งจะช่วยให้การชี้บอกทิศต่างๆ เป็นไปได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ

โดยปกติแล้วเข็มทิศจะชี้ไปทางขั้วแม่เหล็กโลกเสมอ เว้นเสียแต่ในกรณีที่เราต้องการทราบและให้แสดงตำแหน่งของขั้วโลกทางภูมิศาสตร์จริง ซึ่งอาจไม่ตรงกับขั้วแม่เหล็กโลกจริงๆ เพราะจะมีการขยับทุกปีอยู่แล้ว จึงต้องรับเอาข้อมูลจากระบบ GPS มาเพื่อระบุพิกัดที่ถูกต้องบนผิวโลก แล้วปรับแก้ให้ Digital Compass ชี้ไปยังขั้วโลกทางภูมิศาสตร์จริงอีกทีหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้การชี้บอกทิศต่างๆ เป็นไปได้อย่างถูกต้องที่สุด