1-2-3-4 มือถือ Gen ไหน คุณทันใช้บ้าง [ดักแก่!] ตอนที่ 3

ยุคต่อมาเป็นยุคเฟื่องฟูของการใช้งานอินเตอร์เน็ตบนมือถือหรือสมาร์ทโฟน หลายคนเริ่มรู้จัก iPhone และ iPad เริ่มสนุกกับการโหลดแอพฯ เล่นเกมส์ และถ่ายรูปบนมือถือ ไปดูกันสิว่ามือถือในยุคนี้ เค้ามีวิวัฒนาการอย่างไรกันบ้าง ^^

ยุค 3G หรือ Third Generation

นับตั้งแต่ยุค 2G เป็นต้นมา ผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความต้องการในการใช้งาน Data บนโทรศัพท์มือถือ นับวันก็ยิ่งดูจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นทางออกจึงต้องทำให้ระบบโทรศัพท์มือถือที่ใช้อยู่ มีอัตราความเร็วในการรับส่งข้อมูลที่สูงยิ่งขึ้นไปอีก

ในปี พ.ศ. 2544 หรือผ่านมาอีก 10 ปี ระบบโทรศัพท์มือถือในยุค 3G หรือที่เรียกว่าระบบ UMTS (W-CDMA) ซึ่งเป็นระบบที่ถูกพัฒนาต่อยอดมาจากยุค 2G จึงได้ถือกำเนิดขึ้น โดยเป็นการนำเอาข้อดีของระบบเครือข่ายบนมาตรฐาน CDMA ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยสหรัฐฯ มาปรับใช้กับระบบ GSM ในเมืองไทยที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยกลุ่มประเทศในแถบยุโรป โดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU เป็นผู้กำหนดให้คลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz เป็นคลื่นความถี่มาตรฐาน สำหรับใช้ในการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ ที่รองรับเทคโนโลยี 3G เพื่อให้ในทุกๆประเทศใช้เป็นมาตรฐานกลางร่วมกัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าโทรศัพท์มือถือแทบทุกรุ่นทุกยี่ห้อที่ถูกผลิตออกมาขาย จะรองรับการใช้งานบนคลื่นความถี่ 2100 MHz เป็นหลักแทบทั้งสิ้น ส่วนจะมีคุณสมบัติรองรับความถี่ย่านอื่น เช่น 850, 900, 1800 และ 1900 MHz ด้วยหรือไม่นั้น ตรงนี้ถือเป็นทางเลือกของผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ

ตามมาตรฐานสากลแล้ว การใช้งานที่เข้าข่ายหรือถูกจัดว่าเป็นเทคโนโลยี 3G จะต้องมีอัตราความเร็วในการรับส่งข้อมูลไม่ต่ำไปกว่า 2 Mbps (ในขณะใช้งานอยู่กับที่หรือในขณะเดิน) และต้องมีอัตราความเร็วไม่น้อยไปกว่า 384 Kbps (ในขณะใช้รถหรือในขณะวิ่ง) ซึ่งถ้าหากมีอัตราความเร็วที่ต่ำไปกว่านี้ ก็จะถูกปรับเปลี่ยนไปใช้เป็น EDGE แทน นอกจากนี้โทรศัพท์มือถือที่รองรับกับเทคโนโลยี 3G จะต้องใช้งานร่วมกับโครงข่ายอื่นๆ ทั่วโลกได้ด้วย

3.5G

เป็นการต่อยอดจากเทคโนโลยี 3G เดิม ในระบบ UMTS (W-CDMA) ที่มีความเร็วสูงสุดเพียง 384 Kbps มาเป็น 3.5G ในระบบ UMTS (HSDPA) ที่ในช่วงแรกมีการเพิ่มอัตราความเร็วสูงสุดในการรับส่งข้อมูลโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับฝั่งขาลงหรือดาวน์โหลดให้สูงขึ้นเป็น 14.4 Mbps/384 Kbps (Download/Upload) แต่ในทางปฏิบัติผู้ให้บริการต่างๆ ยังคงจำกัดความเร็วไว้ให้ใช้งานจริงเพียงแค่ 7.2 Mbps เท่านั้น

และในช่วงต่อมา ก็ได้มีการพัฒนาการรับส่งข้อมูลทางฝั่งขาขึ้นหรือการอัพโหลด ให้มีความเร็วเพิ่มสูงขึ้นเป็น 5.76 Mbps โดยให้ชื่อว่าระบบ HSUPA ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน เมื่อรวมทั้ง 2 ระบบคือ HSDPA และ HSUPA เข้าไว้ด้วยกัน จนกลายมาเป็น 3.5G ในระบบ UMTS (HSPA) ที่ถูกใช้งานกันแพร่หลาย ซึ่งมีอัตราความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงสุดเป็น 14.4 Mbps/5.76 Mbps (Download/Upload) นั่นเอง

3.9G

สั้นๆ ก็คือ เป็นการต่อยอดจาก 3.5G ในระบบ UMTS (HSPA) เดิม ให้มีอัตราความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงสุดขยับเพิ่มขึ้นไปอีกเป็น 42 Mbps/22 Mbps (Download/Upload) แล้วให้ชื่อเรียกเสียใหม่ว่าเป็น 3.9G ในระบบ UMTS (HSPA+) นั่นเอง

ก่อนจะไปต่อเดี๋ยวขออธิบายเพิ่มเติมไว้ตรงนี้นิดนึงนะครับว่า ที่เห็นความเร็วสูงสุดเท่านั้นเท่านี้ เช่น 7.2 Mbps บ้าง 14.4 Mbps หรือ 42 Mbps บ้าง อันนี้อย่าเพิ่งกระหยิ่มยิ้มย่องดีใจไปนะครับ ว่าเครื่องชั้นแพ็คเกจชั้นต้องได้ความเร็วเท่านั้นเท่านี้ไปตลอด บางท่านทราบแต่อีกหลายๆท่านอาจไม่ทราบว่า ผู้ให้บริการมือถือทุกๆรายทั่วโลก
จะมีนโยบายที่เป็นมาตรฐานสากลที่ต้องยึดถือเป็นข้อปฏิบัติร่วมกัน สำหรับการให้บริการอินเตอร์เน็ตผ่านเครือข่าย 3G และ 4G บนมือถือ ซึ่งเรียกว่า FUP หรือ Fair Usage Policy

นโยบายตรงนี้มีไว้เพื่อกำหนดเงื่อนไขในการใช้งาน Data ผ่านเครือข่าย 3G และ 4G เพื่อให้ผู้ใช้งานโทรศัพท์สามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตบนมือถือได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและใช้งานได้อย่างเหมาะสม โดยคุณจะสามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตบนมือถือได้ด้วยความเร็วสูงสุด ตามแพคเก็จที่เลือกใช้และที่ตัวเครื่องรองรับ ไปตลอดจนกว่าปริมาณการใช้งาน Data จะครบตามจำนวนที่ผู้ให้บริการกำหนดไว้ ซึ่งถ้าหากใช้งาน Data ครบตามปริมาณการใช้งานที่กำหนดไว้แล้ว คุณจะได้รับ SMS เตือนว่าคุณใช้แพคเก็จความเร็วสูงสุดครบแล้ว ซึ่งทั้งนี้คุณยังคงสามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตบนมือถือได้อยู่โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆเพิ่มเติม เพียงแต่คุณจะถูกปรับลดความเร็วในการใช้งานลง จนทำให้ไม่ได้ใช้ความเร็วสูงสุดตามแพคเก็จที่เลือกไว้และที่ตัวเครื่องรองรับ ไปตลอดจนกว่าจะครบรอบบิลตามแพคเก็จที่คุณเลือก

สาเหตุที่ผู้ให้บริการมือถือแต่ละค่ายทำเช่นนี้ ก็เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้นำอินเตอร์เน็ตบนมือถือมาใช้งานในแบบที่ผิดวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น โหลดบิท โหลดหนัง หรือส่งคลิปวิดีโอขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีการรับส่งข้อมูลในปริมาณมาก หากนำไปใช้งานในลักษณะนี้พร้อมๆกันหลายคน อาจส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการและผู้ใช้งาน Data ปกติบนมือถือคนอื่นๆที่อยู่บนเครือข่ายด้วย เพราะแบนด์วิธจะถูกดึงไปใช้จนทำให้คนอื่นๆที่อยู่บนเครือข่าย ได้รับความเร็วลดลงนั่นเอง

ปัจจุบันอาจมีการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายในบางแพคเก็จของผู้ให้บริการเครือข่ายแต่ละราย โดยระบุว่า สามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตได้ไม่อั้น และไม่ลดสปีด (ไม่ติด FUP) ที่ความเร็วสูงสุดต่างๆกัน ซึ่งจริงๆ แล้ว มันก็เป็นแค่เพียงแพคเก็จที่จำกัดความเร็วสูงสุดไว้ที่ระดับนึง เช่น 512 Kbps, 1 Mbps, 4 Mbps และ 6 Mbps ซึ่งถือได้ว่าเป็นความเร็วที่ค่อนข้างต่ำ หรือเรียกง่ายๆคือ แค่เพียงพอต่อการใช้งานทั่วๆไปได้เท่านั้น เมื่อเทียบกับความเร็วสูงสุดของแพคเก็จปกติที่ติด FUP ที่จำกัด Data แต่มีความเร็วสูงสุดได้ถึง 300 Mbps และสิ่งที่ต้องกังวลเวลาใช้แพคเก็จแบบไม่ติด FUP ก็คือ ความเสี่ยงที่ผู้ใช้บริการจะถูกคิดค่าบริการเพิ่มจากเดิมโดยไม่รู้ตัว หากผู้ให้บริการไม่มีระบบการแจ้งเตือนหรือ Credit Limit ที่มีประสิทธิภาพอย่างเพียงพอ

กลับมาเข้าเรื่องกันต่อไหนๆ ก็พูดถึงข้อกำหนดต่างๆ ที่ใช้เป็นมาตรฐานกลางสำหรับเทคโนโลยี 3G และความเร็วในยุคต่างๆ ของ 3G กันไปแล้ว ทีนี้มาพูดถึงจุดเด่นกันบ้าง จุดเด่นที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องของความเร็วในการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ที่ถือได้ว่ามีความเร็วมากพอที่จะรับส่งไฟล์ขนาดใหญ่หรือเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว อีกทั้งยังรองรับการเปิดดูคลิปวิดีโอหรือแม้แต่การเปิดดูรายการถ่ายทอดสดต่างๆ ตลอดไปจนถึงการใช้งาน Data ที่สามารถใช้งานไปพร้อมๆ กับการสนทนาหรือพูดคุยโทรศัพท์ได้ด้วยอย่าง Video Call เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ในยุค 2G ยังทำไม่ได้ และจุดเด่นที่เห็นได้ชัดเจนอีกอย่างก็คือ มันจะมีการเชื่อมต่อกับเครือข่ายอยู่ตลอดเวลา (Always On) เพื่อคงสถานะการออนไลน์เอาไว้ แม้การเชื่อมต่ออาจจะหลุดไปเองในบางครั้ง แต่มันก็จะกลับมาเชื่อมต่อใหม่ให้เองโดยอัตโนมัติเสมอ คล้ายๆ กับการใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบ High Speed คือไม่ต้องมาคอยเชื่อมต่อกับเครือข่าย เวลาที่จะใช้งานอินเทอร์เน็ตในแต่ละครั้งเหมือนกับโทรศัพท์มือถือในยุค 2G นั่นเอง