1-2-3-4 มือถือ Gen ไหน คุณทันใช้บ้าง [ดักแก่!] ตอนที่ 2

ใครที่ทันใช้โทรศัพท์มือถือยุคก่อนหน้านี้ คงเป็นรุ่นที่มีหลานเริ่มโตเป็นหนุ่มเป็นสาวกันแล้ว ^^ ยุคต่อมาที่จะหยิบยกมาพูดในครั้งนี้ เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายคนคงเคยใช้งานกันมาแล้วแทบทั้งสิ้น ไปดูกันสิว่ามือถือในยุคนี้เค้ามีวิวัฒนาการความเป็นมาและเป็นไปอย่างไรบ้าง ^^

ยุค 2G หรือ Second Generation

ในปีต่อๆ มา ก็ได้มีการพัฒนารูปแบบของการสื่อสารไร้สาย จากเดิมที่เป็นการส่งสัญญาณเสียงผ่านคลื่นความถี่วิทยุในระบบ อนาล็อค (Analog) มาเป็นการเข้ารหัสสัญญาณเสียงในระบบ ดิจิตอล (Digital) ก่อนที่จะถูกส่งผ่านไปบนคลื่นความถี่ไมโครเวฟ ที่อาศัยหลักในการส่งสัญญาณแบบ TDMA ซึ่งในการเข้ารหัสสัญญาณในระบบดิจิตอลนี้แน่นอนว่า นอกจากจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับข้อมูลได้มากกว่าระบบอนาล็อคเดิมแล้ว ยังช่วยในเรื่องของคุณภาพของสัญญาณเสียงที่ได้ในระหว่างที่มีการติดต่อสื่อสารกัน ก็จะยิ่งชัดเจนมากยิ่งขึ้นด้วย โดยในยุคนี้นอกจากตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือจะมีขนาดที่เล็กลงและบางเบาขึ้นแล้ว ยังได้เริ่มมีการนำเอาซิมการ์ดมาใช้ และถือเป็นยุคแรกของการเริ่มต้นใช้งาน Data ด้วยการเปิดให้บริการรับส่งข้อความสั้นๆ ที่เป็น Short Message Service หรือ SMS ร่วมด้วย

นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ จากเดิมที่เป็นระบบ อนาล็อคเซลลูล่าร์ (Analog Cellular) มาเป็นระบบ ดิจิตอลเซลลูล่าร์ (Digital Cellular) เพื่อรองรับการใช้งานร่วมกับโทรศัพท์มือถือในระบบเซลลูล่าร์ต่างๆ ที่จะตามมา โดยโทรศัพท์มือถือในระบบเซลลูล่าร์นี้ จะติดต่อกับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือผ่านทางการเชื่อมต่อกับสถานีฐานหรือ Cell Site ที่ในแต่ละจุดจะถูกกำหนดให้ดูแลครอบคลุมพื้นที่ใช้งานของตัวเองที่ถูกแบ่งออกเป็น เซลล์ (Cell) ทำให้นอกจากจะปลอดภัยจากการดักฟังแล้ว ยังช่วยให้เกิดการโทรข้ามประเทศหรือ International Roaming ได้อีกด้วย เพราะระบบดิจิตอลเซลลูล่าร์ถูกกำหนดให้เป็นมาตรฐานที่หลายๆ ประเทศจะต้องใช้งานร่วมกัน และนี่เองจึงก่อให้เกิดเป็นที่มาของคำว่า GSM หรือ Global System for Mobile ที่เรามักได้ยินกันอยู่บ่อยๆ จนคุ้นหูนั่นเอง

2.5G

หลังจากนั้นมาตรฐาน GSM ก็ได้ถูกพัฒนาให้มีขีดความสามารถที่จะรองรับการสื่อสารข้อมูลด้วยอัตราความเร็วที่สูง
ยิ่งขึ้น จนทำให้เกิดเป็นมาตรฐาน GPRS ที่ในทางทฤษฏี
จะรองรับความเร็วสูงสุดได้ถึง 115 Kbps (ในทางปฏิบัติอาจถูกจำกัดไว้แค่ 40 Kbps) ซึ่งช่วยให้สามารถรับส่งข้อมูลที่เป็น ข้อความ ภาพ และเสียง ที่อยู่ในรูปแบบของมัลติมีเดียต่างๆ หรือที่เรียกว่า MMS (Multimedia Messaging Service) ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้ อีกทั้งในยุคนี้ยังได้มีการเปลี่ยนแปลงหน้าจอโทรศัพท์ ให้รองรับการแสดงผลที่เป็นสีสันต่างๆ มากขึ้น รวมไปถึงเสียงเรียกเข้าก็ได้ถูกพัฒนาจาก Monotone มาเป็น Polyphonic ที่ให้ระดับและคุณภาพของเสียงที่ไพเราะยิ่งขึ้น ก่อนจะพัฒนามาเป็น MP3 ในอีกหลายปีถัดมา

2.75G

ก้าวเข้าสู่ยุคของ EDGE ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก GPRS ให้รองรับการสื่อสารข้อมูลด้วยความเร็วที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในทางทฤษฏีจะมีความเร็วสูงสุดได้ถึง 384 Kbps แต่ในทางปฏิบัติความเร็วในระดับนี้คงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะด้วยข้อจำกัดของระบบ ที่ต้องมีการแบ่งช่องสื่อสารสำหรับการใช้งานด้านเสียงไว้ด้วย เนื่องจากในยุคนี้เรายังไม่สามารถใช้งาน Data กับ Voice ไปพร้อมๆกันได้ ตรงจุดนี้ผมเชื่อว่าหลายท่าน คงเคยได้มีโอกาสสัมผัสกับการใช้งานอินเตอร์เน็ตบนมาตรฐาน EDGE กันมาบ้างแล้ว

สรุปว่าระบบโทรศัพท์มือถือในยุค 2G หรือ Second Generation นอกจากจะเป็นประตูเปิดสู่โลกในยุคดิจิตอลของระบบโทรศัพท์มือถือแล้ว ยังเป็นประตูเปิดสู่ยุคของการใช้งานอินเตอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถืออย่างแท้จริงอีกด้วย เพราะนอกจากตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือในยุคนี้จะถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เช่น เป็นหน้าจอสี มีกล้องถ่ายรูป ใช้งานอินเตอร์เน็ตได้ และใช้หน่วยประมวลผลที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นแล้ว ยังเป็นยุคเดียวกับที่บริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือหลายๆ รายทั่วโลก ต่างก็หันมาเปิดตัวโทรศัพท์มือถือหรือที่ในภายหลังถูกเรียกว่า
สมาร์ทโฟน (SmartPhone) ขึ้นในประเทศไทย โดยเป็นการให้บริการในระบบ 2G ที่ใช้มาตรฐาน GSM บนคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz

เป็นไงกันบ้างครับมีใครทันใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุคนี้กันบ้างมั๊ยเอ่ย? ^^ เดาว่าใครที่อายุเกิน 40 ไปแล้ว คงน่าที่จะเคยผ่านการใช้งานมาหลายรุ่นหลายยี่ห้อแล้ว ยุคนี้เป็นอะไรที่มันส์มาก…จริงมั๊ยครับ! ^^ เดี๋ยวครั้งต่อไปผมจะมาเล่าเรื่องราวของวิวัฒนาการในยุคต่อๆไปให้ฟังนะครับ อย่าลืมติดตามชมกันนะครับ ^^