รถไฟฟ้า EV 101

ยังไม่อ่านเล่มนี้ อย่าเพิ่งจองรถไฟฟ้า⚡️

🚘 ช่วงนี้กระแสข่าวการเปิดตัวรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าหรือ EV (Electric Vehicle) รุ่นใหม่ๆ พากันออกมาเป็นแถว ต้อนรับมาตรการส่งเสริมด้วยการลดภาษีนำเข้าของรัฐบาล ทำให้ใครหลายคนที่กำลังจะเปลี่ยนรถใหม่หันมาสนใจรถ EV กันมากขึ้น และคำถามยอดนิยมก็มักจะไม่พ้นที่ว่า รถไฟฟ้านี่ถ้าชาร์จแบตเตอรี่เต็ม (100%) ครั้งนึงนี่สามารถวิ่งได้ไกลพอหรือยัง? คุ้มกว่ารถน้ำมันมั้ย?

🚘 คำถามประมาณนี้ตอบให้ถูกใจได้ยากที่สุด เพราะคำว่า “พอ” ของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคน “พอ” คือแค่ไปกลับที่ทำงาน เลยไปรับส่งลูกไปโรงเรียน แวะจ่ายตลาด แล้วกลับบ้าน บางคนพอคือไปกลับกรุงเทพ-พัทยา หรือ กรุงเทพ- หัวหิน โดยไม่ต้องจอดชาร์จ หรือบางคน “พอ” คือฉันต้องวิ่งกรุงเทพเชียงใหม่ได้โดยไม่ต้องจอดชาร์จเลยก็มี เอาเป็นว่าเราจะมาลองพยายามตอบคำถามนี้ในเชิงวิเคราะห์กันดีกว่า🔋⚡️Range ของรถ EV – มาตรฐาน NEDC นี่เชื่อได้แค่ไหน

🚘 รถ EV ส่วนใหญ่ที่ขายหรือกำลังจะเปิดตัวกันตอนนี้ จะบอกระยะทางโดยประมาณที่วิ่งได้เมื่อชาร์จเต็ม หรือ “range” อยู่ที่ราวๆ 350 – 500 กม. โดยมักอ้างอิงผลการทดสอบของฝั่งยุโรปตามมาตรฐาน NEDC (New European Driving Cycle) ที่ทดสอบกับสภาพถนน สภาพอากาศ และลักษณะการขับขี่ในยุโรป โดยผลทดสอบนี้จะวัดทั้งระยะทางที่ได้ ค่ามลพิษที่ปล่อยออกมา ฯลฯ

🚘 การทดสอบแบบ NEDC นี้มีมาตั้งแต่ยุคก่อนปี 2000 คือเริ่มเมื่อปี 1970 และอัพเดทล่าสุดปี 1997 ตอนแรกใช้การทดสอบระยะทางที่วิ่งได้ของรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน และนำมาใช้กับรถเครื่องดีเซล รถไฮบริด และรถไฟฟ้า EV ด้วย แต่ก็ถูกวิจารณ์ว่ามีระเบียบวิธีการทดสอบที่ยังไม่รัดกุมพอ เช่น ใช้จำนวนครั้งที่ทดสอบน้อยเกินไป และสำหรับรถ EV มักจะให้ระยะทางที่เกินกว่าจะทำได้ในการขับขี่จริงไปมากถึง 25-30% หรือบางสำนักก็บอกว่ามากกว่านั้น

🚘 แปลง่ายๆ ว่าถ้าจะขับให้ได้ตามตัวเลข NEDC มักต้องขับด้วยความพิถีพิถันประมาณนึง เช่น ขับด้วยความเร็วคงที่ซึ่งไม่เร็วนัก เช่น ไม่เกิน 80-100 กม./ชม. ขับนิ่มๆ ไม่ออกตัวแรง (เปิดโหมด Eco) ไม่เบรกกระทันหันบ่อยๆ นั่นแปลว่ารถต้องไม่ติดมากนักด้วย และที่สำคัญก็คือ ไม่เปิดแอร์! ดังนั้นรถที่เคลมว่าวิ่งได้ 350 กม. ถ้ามาขับแบบไม่ระวังมาก ชาร์จแบต 100% แล้วอาจได้ระยะแค่ 75-80% ของระยะที่เคลม คือ 260-280 กม. เท่านั้น

🚘 ดังนั้นจึงมีการพัฒนามาตรฐานใหม่ซึ่งให้ตัวเลขที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น (หรือ “เว่อร์” น้อยกว่า) โดยเป็นของที่ริเริ่มจากทางยุโรปเหมือนกัน คือ WLTP หรือ Worldwide harmonised Light vehicle Test Procedure ซึ่งมาตรฐานล่าสุดออกมาในปี 2015 โดยหลายสำนักให้ราคาตัวเลขที่ทดสอบได้จะว่าอาจจะ (ยังคง) สูงกว่าตัวเลขขับจริงทั่วๆ ไปแค่ 10-20% เท่านั้น

🚘 ส่วนทางฝั่งอเมริกาก็มีมาตรฐาน EPA ที่ออกโดยหน่วยงานชื่อเดียวกันคือ US Environmental Protection Agency (หรืออีกชื่อคือ FTP-75 โดย FTP คือ Federal Test Procedure หรือ “มาตรฐานการทดสอบของรัฐบาลกลาง”) ที่ใช้สภาพการขับขี่ตามแบบถนนในอเมริกา ซึ่งมีถนนไฮเวย์ หรือฟรีเวย์ยาวๆ ระหว่างเมือง ผสมกับในเมือง มาตรฐานนี้อัพเดทล่าสุดเมื่อปี 2008 โดยจะออกมาเป็นทั้ง range และ MPGe (Mile Per Gallon equivalent สำหรับเทียบกับความสิ้นเปลืองของรถใช้น้ำมันด้วย) แต่ตัวเลขระยะทางหรือ range ที่ได้ก็มักจะต่ำกว่า WLTP ลงไปอีกหน่อย

🚘 สามมาตรฐานแล้วยังไม่พอ! สำหรับตลาดจีน ที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุดในโลกของรถ EV ในปัจจุบัน ยังมีมาตรฐานใหม่คือ CLTC (China Light duty vehicle Test Cycle) ที่พยายามสะท้อนการใช้งานของผู้ขับขี่และสภาพแวดล้อมในจีน โดยมีการควบคุมเงื่อนไขการทดสอบอย่างรัดกุม (แต่มักจะให้ตัวเลข range ออกมาสูงกว่า NEDC ขึ้นไปอีก ?!?)

🚘 ดังนั้นเวลาจะเลือกซื้อรถ EV ตอนดูระยะทางที่เค้าเคลมว่าวิ่งได้ ก็ต้องดูด้วยว่าทดสอบตามมาตรฐานตัวไหน NEDC, WLTP หรือ EPA ซึ่งบางรายก็ยังเคลมตาม NEDC อยู่ เพราะมันดูไกลดี แต่ก็มีที่เริ่มหันมาใช้ตัวเลขของ WLTP กันบ้างแล้ว ส่วนผู้ผลิตในจีนในอนาคตอาจจะไปใช้ตัวเลข CLTC กันมากขึ้น แต่ก็ต้องดูว่าเวลานำเข้ามาขายในเมืองไทยแล้วจะอ้างตัวเลขของมาตรฐานไหน

🔋⚡️ ระดับพลังงานในแบตเตอรี่ที่ใช้งานจริงไม่ใช่ 0-100%

🚖 อีกเรื่องที่ต้องมาวิเคราะห์กันก็คือ จากระยะทางที่ทดสอบได้ตามมาตรฐานในหัวข้อที่แล้ว ซึ่งมักจะเป็นค่าจากการชาร์จเต็ม 100% วิ่งจนแบตเหลือ 0% แต่ในการใช้งานจริงเราคงไม่กล้าปล่อยให้ระดับแบตเตอรี่เหลือต่ำๆ มาก เพราะต้องมาลุ้นว่าจะหาที่ชาร์จทันมั้ย หาเจอแล้วจะว่างให้ใช้ได้มั้ย หรือจะแบตหมดกลางทางจนต้องเรียกยานแม่ (รถสไลด์) ก่อน ซึ่งเอาเป็นว่าถ้าขับไปเรื่อยๆ จนแบตเหลือซัก 15% ก็น่าเริ่มตื่นเต้นกันแล้ว 🙁

🚖 ในทางกลับกันผู้ผลิตรถก็ไม่ค่อยแนะนำให้ชาร์จแบบเร็ว (DC Fast Charge ที่ใช้เวลาชาร์จจากตู้ใหญ่ๆ ชาร์จจนเต็มได้ในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง) เกินระดับ 80-85% บ่อยๆ เพราะช่วงที่ชาร์จเกินนั้นขึ้นไปไฟจะเข้าช้ากว่าตอนชาร์จช่วงกลางๆ มาก และจะเสียเวลารอนานกว่าปกติ (ไม่เหมือนรถใช้นำ้มันที่เติมเต็มถังได้ง่ายๆ อันนี้ถ้าเปรียบเทียบก็จะได้อารมณ์ประมาณว่า สมมติเติมค่อนถัง 80% ใช้สามนาที แต่เติมอีก 20% สุดท้ายต้องรอเพิ่มอีกสามนาที) รวมทั้งถ้าทำบ่อยๆ อาจทำให้อายุการใช้งานแบตเตอรี่สั้นลงด้วย

🚖 เมื่อถูกจำกัดทั้งค่าสูงสุดและต่ำสุดในการใช้งานจริง จึงเหลือช่วงระดับพลังงานที่ใช้ประจำได้ตั้งแต่ราวๆ 15-85 % หรือคิดเป็นราว 70% ของความจุแบตเตอรี่ทั้งหมดเท่านั้น (ดูรูปประกอบ) ทำให้ระยะทางที่ใช้งานจริงลดจาก 280 กม. ที่คำนวณแบบใช้พลังงานตั้งแต่ 0-100% ในหัวข้อที่แล้วลงไปอีก คือเหลืออยู่ประมาณ 280 กม. x 70% = 196 หรือประมาณ 200 กม. เท่านั้น🚖ปล. ถ้าใครขับได้ระยะทางมากกว่านี้เราก็ไม่ดราม่ากันนะ 😊 เพราะแสดงว่าคุณขับรถแบบประหยัดพลังงานได้เก่ง และสภาพการจราจรในเส้นทางต้องเอื้ออำนวยด้วย หรือใครจะชาร์จแบบช้าแต่ให้เต็ม 100% ทุกวัน เพื่อให้ขับได้สบายใจ ก็จะได้มาอีก 15% สุดท้าย (85-100%) ทำให้ขับได้ไกลขึ้นอีกหลายสิบกิโลเมตรอยู่

🔋⚡️วิ่งได้ 200+ กิโลเมตร แล้วคุ้มมั้ย?

🚗 ตัวเลขระยะทาง 200 กม. อาจรู้สึกว่าน้อย แต่สำหรับการใช้งานประจำวันไปกลับระหว่างที่ทำงานกับบ้าน โดยไม่เดินทางไกลๆ แค่นี้ก็นับว่าเกินพอแล้วสำหรับคนส่วนมาก (ใครขับรถไปกลับที่ทำงานเกินวันละ 100 กม. บ้าง?) ถ้าคิดถึงความประหยัดที่ได้เทียบกับรถน้ำมัน ที่เติมเต็มถังยุคน้ำมันแพงถึงลิตรละประมาณ 40 บาทแบบนี้ เติมเต็มถังทีนึง 40 ลิตร ก็ต้องจ่ายหลักพันบาทขึ้นไป สมมติเติม 1,600 บาท และคิดเฉลี่ยที่ระยะทาง 16 กม./ลิตร ก็จะวิ่งได้ราว 640 กม. ก็ตกกิโลเมตรละ 2.50 บาท

🚗 ส่วนรถไฟฟ้าปัจจุบันมีความจุแบตเตอรี่ประมาณ 50 หน่วยไฟฟ้า (คือหน่วยหรือ Unit ที่การไฟฟ้าคิดเงินเราในบิลที่มาแต่ละเดือนนั่นเอง หรือศัพท์เทคนิคจริงๆ เรียกว่า กิโลวัตต์-ชั่วโมง หรือ kWh) ถ้าชาร์จที่บ้านจนเกือบเต็ม อาจเสียค่าไฟแค่ 100-200 บาทเศษๆ เท่านั้น แล้วแต่ระบบมิเตอร์ไฟฟ้าที่บ้านว่าเป็นแบบธรรมดา (คิดค่าไฟสูงสุดหน่วยละประมาณ 4.4 บาท) ชาร์จ 50 หน่วยก็เสีย 220 บาท

🚗 ถ้าเป็นมิเตอร์แบบ TOU (Time of Use คือคิดค่าไฟตามช่วงเวลาที่ใช้) ซึ่งคิดหน่วยละประมาณ 5.8 บาท ในช่วงกลางวันที่ธุรกิจและอาคารต่างๆ ใช้ไฟฟ้ามาก คือระหว่าง 9:00 – 22:00 น. วันทำงาน จันทร์-ศุกร์ ส่วนกลางคืนตั้งแต่ 22:00 – 9:00 น. ของวันจันทร์ – ศุกร์ และทั้งวันของวันหยุดนักขัตฤกษ์ จะคิดแค่หน่วยละ 2.6 บาท ดังนั้นถ้าชาร์จ 50 หน่วย เต็มแบตเตอรี่ในช่วงกลางคืน ก็เสียประมาณ 50 x 2.6 = 130 บาท เท่านั้น

🚗 ดังนั้นถ้าคิดว่ารถ EV วิ่งโดยใช้พลังงาน 100% ได้ระยะทางจริง 280 กม. คำนวณค่าไฟฟ้าออกมาแล้ว ถ้าค่าไฟหน่วยละ 2.6 บาท ก็ตกกิโลเมตรละ 130 / 280 = 0.46 บาท ถ้าค่าไฟหน่วยละ 4.4 บาท ก็ตกกิโลเมตรละ 220 / 280 = 0.79 บาท คิดต่อระยะทางที่ได้แล้วยังประหยัดค่าพลังงานมากกว่ารถนำ้มันประมาณ 3-5 เท่าทีเดียว

🚗 ส่วนกรณีไปชาร์จแบบเร็วตามสถานีชาร์จ อาจโดนคิดค่าไฟสูงถึงหน่วยละ 6.50 บาท ถ้าชาร์จเต็ม 100% ก็จะเสีย 325 บาท ซึ่งยังตกกิโลเมตรละ 1.16 บาท ซึ่งก็ยังถูกกว่าค่าน้ำมันเกิน 2 เท่าอยู่ดี

🚗 นอกจากความคุ้มค่าในเรื่องของค่าพลังงานแล้ว ยังมีค่ารถหรือราคาที่ซื้อมา ที่มีแนวโน้มจะถูกกว่าหรือแทบไม่ต่างจากรถน้ำมันในขนาดใกล้เคียงกัน ด้วยผลจากมาตรการส่งเสริมของรัฐบาลที่ทำให้รถไฟฟ้าลดราคาขายลงมาคันละ 1-2 แสนบาทจากราคาของปีที่แล้ว โดยเริ่มจากสองค่ายจีนคือ MG และ Great Wall Motor ที่พร้อมลงนามข้อตกลงลดภาษีกับรัฐบาล (การจะลดภาษีได้ มีเงื่อนไขว่าต้องมีการประกอบรถดังกล่าวในประเทศจำนวนสองเท่าของคันที่ได้ลดภาษีด้วย ไม่ใช่แค่นำเข้ามาขายอย่างเดียว)

🚗 ส่วนในเรื่องของการบำรุงรักษา ก็มีการศึกษามากมายถึงค่าใช้จ่ายโดยรวม หรือ Total Cost of Ownership (TCO) ทั้งค่าใช้จ่ายเรื่องนำ้มันเครื่อง (ที่รถไฟฟ้าไม่มี) ระบบหม้อน้ำระบายความร้อน (รถ EV ยังต้องมีเพื่อระบายความร้อนของมอเตอร์และแบตเตอรี่ แต่ก็น้อยกว่าความร้อนจากเครื่องยนต์) รวมถึงอะไหล่ที่ต้องเปลี่ยนตามความสึกหรอในการใช้งาน ซึ่งเครื่องยนต์มีมากชิ้นกว่าหลายสิบเท่า ฯลฯ รถไฟฟ้าจะถูกกว่ามาก ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่น ยาง เครื่องปรับอากาศ ช่วงล่าง และอื่นๆ ก็น่าจะใกล้เคียงกัน

🔋⚡️ สรุปว่าน่าใช้มั้ย?

🚕 จากที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ใครที่กำลังมองหารถ EV อยู่ ถ้าคุณใช้งานวันละไม่เกิน 200 กม. ก็สามารถกลับมาจอดชาร์จที่บ้านตอนกลางคืนจนเต็มได้ (ใช้ระบบชาร์จแบบช้าหรือ Slow Charge ใช้เวลาราว 7-12 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้ต้องติดตั้งตู้ชาร์จและขอใช้มิเตอร์แบบ TOU ด้วย ไม่ใช่ใช้แค่สายชาร์จฉุกเฉินที่แถมมากับรถแล้วเสียบปลั๊กเอา อันนั้นเรียกแบบช้าสุดๆ บางทีต้องใช้เวลา 15-20 ชั่วโมงหรือนานกว่านั้น) เช้าก็ขับออกไป เย็นก็กลับมาชาร์จที่บ้าน แบบนี้ก็จะคุ้มสุดๆ

🚕 ส่วนใครที่ต้องเดินทางไกลหน่อย หากในเส้นทางที่ผ่านมีสถานีชาร์จแบบเร็ว (DC Fast Charge) ให้แวะชาร์จเกือบเต็มในเวลา 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมงได้ ก็จะสะดวกและประหยัดมากเช่นกัน เพียงแต่อาจต้องใช้การวางแผนล่วงหน้า หาตำแหน่งสถานีชาร์จที่อยู่ในเส้นทาง ตลอดจนลงแอพของสถานีชาร์จค่ายนั้นๆ ในมือถือให้พร้อมใช้และตัดเงินหรือบัตรเครดิต (แอพใครแอพมัน มีกันหลายเครือข่ายสถานี) และกดจองเวลาชาร์จล่วงหน้าให้สอดคล้องกับแผนการเดินทาง เท่านี้ก็จะสามารถเดินทางไกลได้อย่างประหยัดสุดๆ เหมือนที่มีคนทำวิดีโอรีวิวการเดินทางไปที่ต่างๆ ทั่วเมืองไทยด้วยรถ EV ในช่องทางออนไลน์ต่างๆ หลายสิบคลิปกันแล้ว

🚕 อย่างที่บอกตอนต้นว่า “พอ” ของแต่ละคนไม่เท่ากัน ดังนั้นหากใครสนใจรถไฟฟ้า EV ก็คงต้องตอบคำถามว่า ในการใช้งานของคุณนั้น range จริงที่ได้จากการชาร์จแต่ละครั้งของรถคันที่สนใจ อยู่ในช่วงที่คุณใช้งานได้สะดวกในแต่ละวันหรือไม่ หรือความประหยัดที่ได้ คุ้มกับความสะดวกที่อาจลดลงนิดหน่อยจากการวิ่งหาสถานีชาร์จระหว่างทางหรือไม่ ถ้าคำตอบของคุณคือ “ใช่” ก็แสดงว่าถึงเวลาที่คุณจะซื้อรถ EV แล้ว

🚕 แต่ถ้าคุณยังอยากจะได้รถที่ ขับไปไหนเมือ่ไหร่ก็ได้ ไม่ต้องวางแผนมาก แต่อยากประหยัดค่าน้ำมันลงมาหน่อย รถ Hybrid ที่ใช้เครื่องยนต์ร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า (HEV หรือ PHEV) ก็น่าจะเป็นคำตอบสำหรับคุณ เพราะการมีแบตเตอรี่และมอเตอร์ช่วยนั้นทำให้ลดความสิ้นเปลืองน้ำมันไปได้มากพอสมควร แต่ก็ต้องแลกมาด้วยราคาค่าตัวของรถ และค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาสองระบบ ที่อาจจะสูงกว่ารถที่ใช้ระบบเดียว ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าล้วนๆ หรือรถน้ำมันล้วนๆ ก็ตาม🎉ขอให้โชคดีในการตัดสินใจเลือกรถของคุณครับ 🙂

[เนื้อที่โฆษณา]

ขอแนะนำหนังสือ “รถไฟฟ้า EV 101” สำหรับคนที่อยากรู้เรื่องรถไฟฟ้าให้มากขึ้น โดยสำนักพิมพ์ โปรวิชั่น จองได้ที่เพจนี้ #รถve101🛎

ฝากกดติดตามแฟนเพจ Provision

🌐 Website : www.provision.co.th

👉 IG : provision1991

#PROVISION#provisionbook#รถยนต์ไฟฟ้า#รถEV#รถยนต์ไฟฟ้า101#รถVE101