เปิดร้านอาหารออนไลน์ขายผ่านแอป

แอปที่ให้บริการรับส่งอาหารแบบ Food Delivery นี้มีอยู่หลายแอปมาก แต่ที่เด่นๆดังๆ ที่นิยมใช้กันบ่อยๆ ก็จะมี LINEMAN, GRAB, Food Panda, Robinhood, Shopee Food ซึ่งเป็นแอปที่ห้ามพลาด ไม่ว่าร้านคุณจะมีหน้าร้านหรือไม่มีหน้าร้าน รวมถึงร้านที่ทำในบ้านหรือคอนโด ถ้าทำได้ก็ควรจะมีให้ครบทุกแอป เพื่อเปิดโอกาสในการขาย แต่ก็ควรดูเงื่อนไขการให้บริการประกอบด้วย ซึ่งแต่ละแอปก็จะมีหลักการให้บริการคล้ายกัน แต่ก็จะมีรายละเอียดบางอย่างที่แตกต่างกัน เช่น แอปนี้มีร้านคู่แข่งที่ขายอาหารแบบเดียวกันเยอะรายแถมราคาถูกกว่ามาก หรือแถวร้านไม่ค่อยมีไรเดอร์เจ้านี้วิ่งให้บริการเปิดไปก็ไม่ค่อยมีออเดอร์ เป็นต้น ทางร้านควรศึกษาข้อมูลหรือลองใช้บริการเองดูก่อนเพื่อตัดสินใจ แต่มีหลายๆแอปไว้ก็ไม่เสียหาย เพราะจะเสียค่าคอมมิชชันก็ต่อเมื่อมีออเดอร์ ยกเว้น Food Panda ซึ่งมีค่าใช้จ่ายรายเดือน (แล้วแต่ตกลงกับเซลล์)

การสมัครเปิดร้านอาหารกับแอปดังสามารถสมัครผ่านเว็บไซต์หรือสมัครผ่านแอปก็ได้ดังนี้

Wongnai-LINEMAN

แอปดังที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงที่มี “คนละครึ่ง-เราชนะ” เป็นแอปที่ใช้ง่าย สามารถปรับเปลี่ยนเมนู โปรโมชัน และการโฆษณา ได้เองและทำได้ตลอดเวลา ในส่วนของลูกค้าก็มีคูปองและโปรโมชันดึงดูดให้เข้ามาใช้บริการ นอกจากนี้ระบบยังรองรับการให้ลูกค้าสั่งแล้วมารับเอง หรือร้านจัดส่งเองได้อีกด้วย

การเปิดร้านใน LINEMAN จะมี 2 แบบคือ NON GP เมื่่อเปิดร้านใหม่ๆ สถานะของร้านจะยังไม่เสียค่าคอมมิชชันหรือ GP ถ้าขายได้ก็จะได้รับเงินเต็มๆเหมือนขายหน้าร้านปกติเลย ฟังดูดีมากๆ แต่!! ภายหลังร้านเหล่านี้แทบทั้งหมดก็ต้องยอมเสียค่า GP ให้ LINEMAN กันทั้งนั้น เพราะร้านแบบที่ไม่เสีย GP จะไม่ได้รับการโปรโมท ไม่ได้แสดงให้ลูกค้าที่อยู่ใกล้ๆกับร้านได้เห็น อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้อยู่ยากก็คือร้านแบบนี้จะมีค่าส่งแพงกว่าร้านที่เสีย GP ค่อนข้างมาก ทำให้ลูกค้าไม่ค่อยยอมสั่งกัน อีกแบบคือเสีย GP ซึ่งค่า GP จะอยู่ที่ 30% (รวม vat 7% จะอยู่ที่ 32.1%) ร้านส่วนใหญ่จึงต้องตั้งราคาอาหารสูงกว่าหน้าร้านเพื่อแบกรับค่า GP นี้ เมื่อขายได้ก็จะหัก GP ออกจากยอดขายเลย โดยจะโอนเงินให้ร้านค้าเมื่อมียอดเงินมากกว่า 500 บาทหรือโอนให้ทั้งหมดทุกต้นเดือน

สมัครเป็นพาร์ทเนอร์ https://business.wongnai.com/restaurant-management-system

Grab Food

คิดค่าคอมมิชชันหรือ GP เท่ากับ LINEMAN คือ 30% (รวม vat 7% จะอยู่ที่ 32.1%) ระบบก็คล้ายกับ LINEMAN มีการสร้างโปรโมชันได้เอง ไม่ว่าจะแบบลดราคาหรือให้ของแถมเมื่อซื้อถึงยอดที่กำหนด นอกจากนี้ยังมีแคมเปญส่วนลดให้ร้านเข้าร่วมได้หลากหลายรูปแบบ สามารถทำโฆษณาเรียกลูกค้า และเข้าร่วมโครงการ “คนละครึ่ง” ของทางภาครัฐได้เช่นกัน เมื่อขายได้ก็จะได้รับเงินในวันถัดไป (จะโอนให้เมื่อยอดหลังหักค่าคอมมิชชันมากกว่า 50 บาท) แถมบางช่วงยังช่วยร้านค้าโดยมีสินเชื่อให้กู้ยืมไปต่อทุนอีกด้วย

สมัครเป็นพาร์ทเนอร์ www.grab.com/th/merchant/food

Robinhood

แอปนี้จะมีการพัฒนาต่อเนื่อง มีการปรับเปลี่ยนระบบและค่าส่งอยู่เรื่อยๆ ซึ่งร้านอาหารที่เปิดอยู่ในปัจจุบันจะได้รับการตรวจสอบ ถ้ามีการแก้ไขก็จะต้องรอให้ระบบอนุมัติก่อนข้อมูลจึงจะอัปเดต ทั้งเมนู ราคา เวลาเปิด-ปิด หรืออื่นๆ โดยระบบนั้นแจ้งว่าต้องรอประมาณ 3 วัน แต่เท่าที่สังเกตถ้าเป็นการแก้ไขเมนูเดิมส่วนใหญ่ก็จะอัปเดตให้ทันที ถ้าเป็นการสร้างเมนูใหม่ยังต้องรอระบบอนุมัติ

ตอนนี้มีระบบที่เรียกว่า “ส่วนลด DD” โดยจะหัก 10% จากยอดสั่งซื้อ (เฉพาะร้านที่สมัครเข้าร่วม) โดยจะให้สิทธิ์ค่าส่งราคาพิเศษ (20 บาท/10 กม.) และร้านจะได้รับการโปรโมทในแอปเป็นการตอบแทน (ถ้าไม่เข้าร่วมจะเสียค่าส่งเริ่มต้นที่ 30 บาท (3 กม.แรก) และจะเพิ่มขึ้นตามระยะทาง)

การโอนเงินเข้าบัญชี SCB ของร้านค้าจะมีรอบโอนวันละ 5 รอบ (ถ้าลูกค้าจ่ายผ่านบัตรเครดิต ร้านจะเสียค่าธรรมเนียมอีก 1.85% (ยังไม่รวม vat))

สมัครเป็นพาร์ทเนอร์ แอป Robinhood Shop หรือเว็บไซต์ www.robinhood.in.th/merchant

Shopee Food

แอปน้องใหม่มาแรง อัดโปรโมชันแบบจัดหนักดึงดูดให้ทั้งลูกค้าและไรเดอร์เข้ามาใช้งานกันอย่างล้นหลาม โดยสามารถใช้ Coins ที่มีมาลดค่าอาหารได้ ค่าส่งก็ราคาไม่แพง คิดตามระยะทาง แต่สำหรับร้านค้าที่เข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับ Shopee Food อาจจะจุกๆหน่อย เพราะคิดค่าคอมมิชชันหรือ GP ถึง 32% (รวม vat 7% เป็น 34.2%) ซึ่งตอนนี้เปิดรับชำระผ่านแอปเป๋าตังค์ในโครงการคนละครึ่งได้แล้ว

โดยเริ่มแรกจะยังไม่สามารถสมัครเข้าร่วมเองได้ต้องทำผ่านเซลล์ที่ดูแลในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะให้กรอกข้อมูลพร้อมอัปโหลดเอกสาร เสร็จเรียบร้อยก็ต้องรอการอนุมัติ โดยจะแจ้งรหัสผู้ใช้และรหัสผ่านมาให้ทางอีเมล จากนั้นให้ดาวน์โหลดแอป Shopee Partner มาล็อกอินเข้าใช้งาน แล้วจัดการข้อมูลในร้านและลงเมนูเพื่อเปิดร้านได้เลย เมื่อเปิดร้านและขายได้ก็จะโอนเงินให้ร้านค้าในวันถัดไปไม่เกินเที่ยงโดยไม่มีขั้นต่ำ ถ้าต้องการทำโปรโมชั่นต่างๆเพื่อส่งเสริมยอดขายก็มีทั้งแบบที่สร้างได้เองและแบบแคมเปญที่ต้องสมัครกับเซลล์เท่านั้น

Foodpanda

คิดค่าคอมมิชชัน 32% จากยอดขายของออเดอร์ทั้งหมดที่สั่งผ่าน foodpanda (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) โดยจะมีค่าแรกเข้า 399 บาทและค่าบริการรายเดือน 99 บาท (บางช่วงอาจมีโปรโมชันลดค่าคอมมิชชันหรือฟรีค่าแรกเข้าและค่าบริการรายเดือน) โดยจะมีเครื่องแท็บเล็ตสำหรับจัดการร้านอาหารให้ใช้ เมื่อยกเลิกการใช้บริการก็ต้องส่งคืน ซึ่งตอนนี้ยังเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งให้ลูกค้าใช้จ่ายผ่านแอปเป๋าตังค์กับร้านค้าที่เข้าร่วมได้แล้ว

สมัครเป็นพาร์ทเนอร์ www.restaurant.foodpanda.co.th