มาตรฐาน USB 3.1 กับพอร์ต USB Type-C

USB 3.1 ถือเป็นมาตรฐานสำหรับพอร์ต USB ในเวลานี้ หลังจากเปิดตัวให้ผู้คนทั่วโลกได้รู้จักมากว่า 3 ปี โดยถูกนำมาใช้งานจริงกับผลิตภัณฑ์ MacBook 12” (Early 2015) ของ Apple เป็นครั้งแรก นับแต่นั้นมาก็มีแนวโน้มที่ผู้ผลิตเมนบอร์ดให้กับคอมพิวเตอร์หลายราย ต่างก็หันมาให้ความสนใจกันอย่างรวดเร็ว โดยได้นำพอร์ต USB 3.1 นี้ มาติดตั้งให้กับผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ๆของตนเพิ่มมากขึ้น จนในที่สุดทุกวันนี้ USB 3.1 ก็ได้กลายมาเป็นมาตรฐานใหม่แทนที่ USB 2.0 และ 3.0 ไปแล้ว เรามาทำความรู้จักกับมาตรฐาน USB 3.1 ให้ลึกลงไปอีกซักนิดกันดีกว่า

USB 3.1 เป็นมาตรฐานที่ถูกกำหนดขึ้นโดย USB-IF ซึ่งในช่วงแรกๆ เป็นการนำเอามาตรฐานของ USB 3.0 มาจัดตั้งขึ้น โดยยังคงใช้ชื่อกำกับเดิมว่า SuperSpeed อยู่ แต่เปลี่ยนชื่อเรียกมาตรฐานเสียใหม่ว่าเป็น USB 3.1 Gen 1 ซึ่งยังคงมีอัตราความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลสูงสุดอยู่ที่ 5 Gbps มีแรงดันไฟขนาด 5 Vdc จ่ายกระแสไฟปกติได้ประมาณ 0.9 A และมีกำลังไฟปกติ 4.5 W

จากนั้นล่าสุดจึงได้พัฒนามาเป็น USB 3.1 Gen 2 มีชื่อกำกับว่า SuperSpeed+ ซึ่งมีอัตราความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลสูงสุดเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเป็น 10 Gbps ส่วนแรงดัน (V) และกระแสไฟ (A) รวมถึงกำลังไฟ (W) หากเป็นการใช้งานปกติจะยังคงมีขนาดเท่าเดิมคือ 5 Vdc, 0.9 A และ 4.5 W เว้นเสียแต่ว่ามีผู้ผลิตบางรายเลือกที่จะกำหนดให้พอร์ต USB Type-C ของตน มีคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรฐาน USB Power Delivery ที่ตั้งขึ้นโดย USB-IF ก็อาจมีแรงดัน (V) และกระแสไฟ (A) รวมถึงกำลังไฟ (W) ที่จ่ายให้กับอุปกรณ์อื่นๆที่นำมาเชื่อมต่อได้มากกว่านี้ ซึ่งตามมาตรฐานกำหนดไว้สูงสุดถึง 20 Vdc, 5 A และ 100 W เรียกได้ว่าเอาโน้ตบุ๊คมาเสียบเพื่อชาร์จไฟกันได้เลยทีเดียว หรือเอาสมาร์ทโฟนมาเสียบเพื่อชาร์จไฟก็เร็วกว่าพอร์ต USB ปกติหลายเท่า

เทคโนโลยีที่มาพร้อมกับมาตรฐาน USB 3.1 ไม่ใช่มีแค่เรื่องของความเร็วที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น หากแต่มีเรื่องของรูปแบบหรือชนิด (Type) ของหัวต่อ (Plugs) และขั้วต่อ (Connectors) ใหม่ที่ใช้กับพอร์ต USB เพิ่มขึ้นมาอีก 1 ชนิดด้วย นั่นคือ USB Type-C หรือ USB-C ซึ่งพอร์ต USB ชนิดนี้ มีแนวโน้มว่าน่าจะถูกนำมาใช้งานเป็นมาตรฐานแทนที่พอร์ต USB ชนิดเก่าๆอย่าง Type A และ Type B ที่ถูกใช้งานกันมายาวนานในอีกไม่ช้า โดยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงให้เห็นจากบนทุกๆอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ฯลฯ ไม่เว้นแม้แต่บนคอมพิวเตอร์พีซี ที่เดี๋ยวนี้บนเมนบอร์ดรุ่นใหม่ๆหลายรุ่น นอกจากจะมีพอร์ต USB 3.1 Type A มาให้แล้ว เค้ายังมีพอร์ต USB 3.1 Type-C ติดตั้งเพิ่มเติมมาให้ด้วย

USB Type-C จะดีกว่าแบบ Type A และ Type B เดิมๆที่เราเคยใช้กันคือ ที่หัวต่อเราสามารถพลิกกลับไปกลับมา แล้วใช้ด้านใดเสียบเข้ากับขั้วต่อหรือพอร์ต USB Type C ก็ได้ (ดูๆไปก็คล้ายกับขั้วต่อ Lightning ของ Apple เค้านั่นแหละ) โดยที่ไม่ต้องพลิกให้ถูกด้านเหมือนกับที่ใช้ใน Type A และ Type B ทำให้สะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้กับอะแดปเตอร์ที่ถูกออกแบบมาเฉพาะตามมาตรฐาน USB Power Delivery เพื่อชาร์จไฟให้กับแบตเตอรี่บนตัวอุปกรณ์ผ่านทางพอร์ต USB Type-C นี้ได้ ตลอดจนยังสามารถออกแบบให้มีการจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้พลังงานน้อยกว่าที่กำหนดไว้ตามมาตรฐาน USB Power Delivery ได้ด้วย