มารู้จักกับเซนเซอร์ (Sensor) ต่างๆ บนสมาร์ทโฟนกัน (ตอนที่ 2)

คราวที่แล้วผมพาไปทำความรู้จักกับเจ้าเซนเซอร์ตรวจสอบลายนิ้วมืออย่าง Touch ID และ Fingerprint Scanner กันไปแล้ว มาคราวนี้ผมจะพาไปทำความรู้จักกับเจ้า เซนเซอร์ตรวจวัดสภาพแสง (Ambient Light Sensor) และ ตรวจจับการเคลื่อนไหว (Accelerator Sensor) ไปดูรายละเอียดกันครับว่า เซนเซอร์ทั้ง 2 ตัวนี้ ทำหน้าที่อะไรในสมาร์ทโฟนกันบ้าง ^ ^

Ambient Light Sensor

หรือเรียกอีกอย่างว่า RGB Light Sensor เป็นเซนเซอร์ที่ใช้ในการตรวจวัดสภาพแสง ในสภาวะแวดล้อมขณะที่เรากำลังใช้งานสมาร์ทโฟนอยู่ ว่ามีแสงสว่างมากหรือน้อยเช่นไร โดยแสงที่เซนเซอร์สามารถตรวจจับได้ จะประกอบด้วยแสงที่เป็นแม่สีหลัก 3 สีคือ แดง (Red), เขียว (Green) และน้ำเงิน (Blue) ตลอดจนระดับความเข้มของแต่ละสี

โดยเซนเซอร์จะนำข้อมูลที่ได้เหล่านี้ไปปรับการแสดงผลบนหน้าจอ ให้มีระดับความสว่างหรือมีสีสันที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านข้อความยาวๆหรืออีบุ๊ค, ท่องเว็บ, ดูหนังดูรูปภาพ ฯลฯ ได้อย่างสบายตา ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ที่มีสภาพแสงเป็นเช่นไร

Accelerator Sensor

หรือเรียกอีกอย่างว่า Accelerometer เป็นเซนเซอร์ที่ใช้ในการตรวจจับการเคลื่อนไหวของตัวสมาร์ทโฟน ว่ามีการเคลื่อนที่อย่างไร ไปในทิศทางใด หรือด้วยความเร็วแค่ไหน เช่น เคลื่อนที่ขึ้นบน-ลงล่าง ไปทางซ้าย-ทางขวา ไปข้างหน้า-ข้างหลัง หรือเคลื่อนที่ไปในแนวทะแยง ฯลฯ โดยในการใช้งานสมาร์ทโฟนที่เห็นกันอยู่บ่อยๆ ก็เช่น การหมุนหรือปรับเปลี่ยนทิศทางการแสดงผลบนหน้าจอ และการใช้งานที่ต้องเอียงตัวเครื่องไปในทิศทางต่างๆ อย่างการเล่นเกมส์แข่งรถที่ต้องเอียงตัวเครื่องเพื่อเลี้ยวโค้ง หรือเกมส์ Balance 3D ที่ต้องเอียงตัวเครื่องเพื่อเลี้ยงลูกบอกไปในทิศทางที่ต้องการ เป็นต้น

Accelerator Sensor จะแตกต่างกับ Gyro Sensor ตรงที่ ตัวเครื่องต้องมีการเคลื่อนไหวเท่านั้น เพราะหากตัวเครื่องอยู่นิ่งๆ นอกจากเซนเซอร์จะไม่สามารถตรวจจับได้แล้ว ยังไม่สามารถบอกได้ด้วยว่าตัวเครื่องวางอยู่ในลักษณะหรือท่าทางใด เอียงทำมุมหรือหันหัวไปทางทิศไหน แต่ Gyro Sensor ถึงแม้ตัวเครื่องจะอยู่นิ่งๆ ก็สามารถบอกได้ สำหรับข้อมูลจาก Accelerator Sensor นี้ หากนำไปใช้งานร่วมกับ Gyro Sensor จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการแสดงผลการถ่ายภาพ เล่นเกมส์ และอื่นๆ ให้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ข้อมูลที่ได้จาก Accelerator Sensor จะมีประโยชน์มาก หากนำไปใช้งานร่วมกับแอพพลิเคชั่นสำหรับการออกกำลังกายต่างๆ บนสมาร์ทโฟนอย่าง S Health : Walking Mate ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถติดตาม นับก้าว และทราบถึงอัตราการเผาผลาญพลังงานหรือแคลอรี่ของการออกกำลังกาย อย่างเช่น การเดิน, การวิ่ง และการปั่นจักรยานได้

เป็นไงครับกับคุณประโยชน์ของเซนเซอร์ต่างๆ ที่ถูกใส่ไว้ในสมาร์ทโฟน นี่แค่เล็กน้อยนะครับ ยังมีอีกหลายตัวที่ผมจะหยิบยกมาเล่าให้ฟังกันในโอกาสต่อไป หลายๆฟังก์ชั่นการใช้งานบนสมาร์ทโฟนเราเคยใช้มันอยู่ทุกวัน แต่อาจไม่รู้ว่าความสามารถเหล่านี้มาจาก เซนเซอร์ที่อยู่ในรูปแบบของชิปตัวน้อยๆ ที่อยู่บนแผงวงจรในสมาร์ทโฟนของเรานั่นเอง อย่าลืมติดตามอ่านกันนะคร๊าบบบ.บ ^ ^