ค้นหา และระบุตำแหน่งบนพื้นโลกด้วย GPS (ตอนที่ 2)

คำตอบของคำถามที่ว่า มันทำงานยังไง? ต้องใช้เน็ตมั๊ย? เหมือนหรือต่างกับ GPS ในรถอย่างไร? ได้ตอบไว้อย่างครบถ้วนในตอนที่แล้ว มาคราวนี้มาดูกันสิว่า มันจะช่วยนำทางได้อย่างไร และมันเหมือนหรือต่างจาก A-GPS อย่างไร ไปดูกัน ^^

“แล้วระบบ GPS ช่วยนำทางได้อย่างไร?”

ในตอนต้นได้กล่าวถึงการทำงานของระบบ GPS ในการค้นหาและระบุตำแหน่งหรือพิกัดบนพื้นผิวโลกว่าทำได้อย่างไรไปแล้ว ต่อมาเรามาพูดถึงประโยชน์ของระบบ GPS ที่ใช้ในการนำทางไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆตามที่ต้องการกันบ้างว่า มันทำได้อย่างไร

ก่อนอื่นเราต้องมีอุปกรณ์ GPS ที่ใช้นำทางกันก่อน และควรอยู่ในที่โล่งแจ้งที่สามารถเงยหน้าแล้วมองเห็นท้องฟ้าได้ เมื่อเปิดเครื่องหรือโปรแกรมนำทางจะเป็นการเปิดรับสัญญาณข้อมูล GPS ซึ่งเป็นสัญญาณอ่อนๆที่ถูกส่งมาจากดาวเทียมดวงต่างๆที่โคจรผ่าน และเมื่อรับสัญญาณข้อมูลจากดาวเทียมได้ตั้งแต่ 4 ดวงขึ้นไป ที่ตัวอุปกรณ์ GPS ก็จะประมวลผลและโปรแกรมนำทาง ก็จะแสดงตำแหน่งปัจจุบันของเราให้ปรากฏบนแผนที่

ซึ่งแผนที่ที่ใช้นำทางนี้ จะเป็นแผนที่พิเศษที่ถูกกำหนดทิศทางการจราจร เช่น การจราจรแบบชิดซ้ายหรือชิดขวา ข้อมูลการเดินรถทางเดียว จุดสำคัญต่างๆ ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ต่างๆ ฝังเอาไว้ในข้อมูลแผนที่ที่ได้ทำการสำรวจและตั้งค่าเอาไว้แล้ว ซึ่งในแต่ละทางเลี้ยวทางแยก ก็จะมีการกำหนดค่าเอาไว้ด้วยเช่นกัน เพื่อให้โปรแกรมนำทางเลือกการเชื่อมต่อของเส้นทางต่างๆ จนถึงจุดหมายปลายทางที่ได้เลือกไว้เอง

ในเรื่องของเสียงนำทาง ก็จะทำงานสอดคล้องกับการเลือกเส้นทาง และจะถูกกำหนดให้มีการแจ้งเตือนเอาไว้ล่วงหน้าเหมือนกับการแสดงทิศทางเช่นเดียวกัน

เมื่อเรากำหนดจุดหมายปลายทางที่จะไปแล้ว โปรแกรมนำทางจะคำนวณเส้นทางพร้อมแจ้งรายละเอียดต่างๆทั้งภาพ เสียง และข้อมูลที่จำเป็นให้ทราบตั้งแต่แรกก่อนเดินทาง ซึ่งในระหว่างเดินทางตามเส้นทางที่โปรแกรมนำทางพาไปหากออกนอกเส้นทาง เครื่องจะแจ้งเตือนให้เราทราบและจะพยายามค้นหาเส้นทางใกล้เคียง เพื่อนำกลับเข้ามาสู่เส้นทางเดิมที่ได้กำหนดไว้ แต่หากออกนอกเส้นทางไปไกลเกินกว่าที่กำหนด โปรแกรมนำทางจะคำนวณเส้นทางให้ใหม่โดยอัตโนมัติ

นอกเหนือจากการใช้โปรแกรมให้ช่วยนำทางตามปกติแล้ว เรายังสามารถกำหนดเส้นทางพร้อมให้โปรแกรมนำทาง จำลองเส้นทางหรือจำลองการเดินทางให้ดูก่อนก็ได้ หรือจะกำหนดจุดแวะพักตามสถานที่ต่างๆหลายๆจุด เป็นทริปท่องเที่ยวของเราเองก็ได้ หรือจะตั้งค่าให้โปรแกรมนำทาง หลีกเลี่ยงเส้นทางแบบต่างๆก็ได้ เช่น เลี่ยงทางลูกรัง ใช้ทางอ้อม เลี่ยงทางด่วน ฯลฯ

“แล้ว A-GPS ล่ะ คืออะไร? เหมือนหรือแตกต่างจาก GPS ยังไง? คำตอบคือ…”

A-GPS หรือ Assisted GPS ก็เป็นระบบค้นหาและระบุตำแหน่งหรือพิกัดบนพื้นผิวโลกเช่นเดียวกับระบบ GPS แต่แตกต่างกันตรงที่ระบบ GPS นั้น จะรับสัญญาณจากดาวเทียมโดยตรง ซึ่งนำมาช่วยระบุตำแหน่งและใช้นำทางไปยังสถานที่ต่างๆได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ส่วนระบบ A-GPS ที่เราคุ้นเคยกันในโทรศัพท์มือถือหลายๆรุ่น การค้นหาและระบุตำแหน่งหรือพิกัดบนพื้นผิวโลก จะอาศัยเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือเป็นตัวช่วย โดยสัญญาณข้อมูลต่างๆจากดาวเทียม จะถูกส่งมายัง Assistance Server ของผู้ให้บริการ ก่อนจะถูกส่งต่อมายังโทรศัพท์มือถือผ่านระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ดังนั้น A-GPS จึงต้องเสียค่าบริการเชื่อมต่อกับเครือข่าย EDGE/GPRS ด้วย

แต่ A-GPS ก็มีข้อดีกว่าระบบ GPS คือ เนื่องจากเป็นการเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นจึงสามารถรับสัญญาณดาวเทียมได้ แม้อยู่ภายในอาคารหรือในที่ที่มองไม่เห็นท้องฟ้า นอกจากนี้ยังมีความแม่นยำในการระบุตำแหน่งหรือพิกัด โดยจะมีความผิดพลาดน้อยกว่าระบบ GPS ที่รับสัญญาณจากดาวเทียมโดยตรง อีกทั้งโทรศัพท์มือถือที่ใช้ A-GPS ก็ไม่ต้องทำงานหนัก เพราะรับสัญญาณข้อมูลมาจาก Assistance Server ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้หน่วยประมวลผลที่มีความเร็วสูงๆมาช่วยในการคำนวณ จึงไม่เป็นภาระในการเพิ่มต้นทุนให้กับตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือ หรือพูดง่ายๆก็คือ มือถือราคาถูกก็สามารถมี GPS ไว้ใช้งานได้นั่นเอง