1-2-3-4 มือถือ Gen ไหน คุณทันใช้บ้าง [ดักแก่!] ตอนที่ 5

ยุค 5G หรือ Fifth Generation

ถือเป็นเทคโนโลยีที่จะมาเป็นตัวพลิกโฉมอุตสาหกรรมการสื่อสารในเมืองไทย ที่ปัจจุบันกำลังเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว เนื่องจากทิศทางของรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์มือถือเปลี่ยนไปมาก จากแต่ก่อนที่รายได้หลักจะมาจากการโทรออกรับสายในยุค 2G และเปลี่ยนมาเป็นรายได้จากการรับส่ง data ในยุค 3G และ 4G ตามลำดับ แต่ทว่าแนวโน้มจำนวนคนใช้โทรศัพท์มือถือที่เพิ่มขึ้นกลับมีทีท่าชะลอตัว และทิศทางของรายรับรวมเริ่มเป็นขาลง แม้คนจะใช้ data จากการ upload/download วิดีโอมากขึ้นก็ตาม

แต่ด้วยเทคโนโลยี 5G ที่มีความเร็วสูงถึงในระดับกิกะบิต (Gbps) ซึ่งเร็วกว่า 4G อยู่หลายสิบเท่า และด้วยคุณสมบัติเด่นอีก 2 ประการคือ มีความหน่วงในการรับส่งข้อมูลที่ต่ำมากถึงในระดับหนึ่งส่วนพันวินาที จึงทำให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับระบบควบคุมทางไกลได้ เช่น การกู้ภัย การควบคุมเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ หรือแม้แต่การแพทย์ทางไกล และอีกคุณสมบัติเด่นคือ การรองรับอุปกรณ์เชื่อมต่อได้นับล้านๆ ชิ้นต่อตารางกิโลเมตร จึงสามารถรองรับยุค IoT (Internet of Things) ที่เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ของมนุษย์ ล้วนแล้วแต่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้เทคโนโลยี 5G กลายเป็นกุญแจที่จะมาไขประตูสู่อุตสาหกรรมการสื่อสารในยุคใหม่อย่างแท้จริง

แม้เวลานี้ ITU จะยังไม่ได้กำหนดคลื่นความถี่ที่จะใช้กับเทคโนโลยี 5G อย่างเป็นทางการ แต่ผู้ผลิตทั่วโลกต่างเห็นตรงกันว่า จำเป็นต้องใช้คลื่นความถี่ใหม่ที่มีขนาดแบนด์วิธกว้างมากๆ เพื่อให้เพียงพอกับปริมาณข้อมูลอันมหาศาล ซึ่งในเบื้องต้นได้กำหนดไว้ 3 ย่านคือ ย่านความถี่ต่ำ (Low-band) และ ความถี่ปานกลาง (Mid-band) ที่ใช้งานบนความถี่ตั้งแต่ 600 MHz ไปจนถึง 6 GHz โดยเน้นที่ความถี่ 3.5-4.2 GHz เป็นหลัก กับย่าน ความถี่สูงมาก หรือที่เรียกว่า “millimeter-wave” ที่ใช้งานบนความถี่ตั้งแต่ 26-60 GHz ที่เคลมว่าอาจมีความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงถึง 20 Gbit/s เลยทีเดียว นอกจากนี้ 5G ยังมาพร้อมกับเทคโนโลยี Massive MIMO ที่รองรับเสาสัญญาณได้ตั้งแต่ 64-256 เสา ซึ่งให้ประสิทธิภาพที่สูงกว่า 4G เดิม ถึง 10 เท่า

ระหว่างนี้ในหลายๆประเทศ กำลังมีการทดลองใช้งานเทคโนโลยี 5G กันอย่างไม่เป็นทางการ อาทิ ในงานมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2018 ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่พย็องชัง ประเทศเกาหลี ที่ผู้ชมจะได้รับชมการถ่ายทอดสดออนไลน์หรือไลฟ์สตรีมมิ่งการแข่งขันในรายการต่างๆ ผ่านระบบ UHD 4K และ 8K ที่ให้ความคมชัดสูง พร้อมกับการผสมผสานเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) หรือ VR (Virtual Reality) เข้าไป เพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม และอีกไม่นานเรายังจะได้มีโอกาสสัมผัสกับประสบการณ์ 5G นี้กันอีก ในการแข่งขันกีฬาระดับโลก 2 รายการ ที่จะจัดขึ้นที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นั่นคือ ศึกรักบี้ชิงแชมป์โลก ในปี 2562 และการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ในปี 2563 ก่อนที่ในอีกหลายๆประเทศ ทั้ง เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น และจีน จะเริ่มต้นใช้งานกันอย่างเป็นทางการไม่เกินปี พ.ศ. 2563 หรือในอีก 2 ปีข้างหน้า

การมาถึงของ 5G จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน 5 ด้านที่สำคัญ คือ สร้างการเชื่อมต่อที่ไม่จำกัด, สร้างสรรค์นวัตกรรมทางเศรษฐกิจ, ขยายพลังอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง, สร้าง IoTs และปฏิรูปอุตสาหกรรมการสื่อสารให้กว้างไกลในทุกทาง สำหรับประเทศไทย คงต้องเร่งเตรียมตัวเพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ยุค 5G ทั้งในด้านการลงทุนโครงข่ายและอุปกรณ์ใหม่ รวมถึงการเตรียมคลื่นความถี่ให้เพียงพอต่อบริการ ครั้งนี้จึงนับเป็นโอกาสและความท้าทายที่อาจกลายเป็นแรงผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ยุค 4.0 ได้อย่างแท้จริง

ขอบคุณภาพ : ekoportal.org, tangerangekspres.co.id, businesskorea.co.kr และ Twitter.com