1-2-3-4 มือถือ Gen ไหน คุณทันใช้บ้าง [ดักแก่!] ตอนที่ 4

ยุค 4G หรือ Fourth Generation

นับตั้งแต่มีเทคโนโลยี 3G โทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนได้ถูกพัฒนาไปเร็วมาก ทำให้เราสามารถเข้าถึงและใช้งานอินเตอร์เน็ตได้จากบนมือถือตลอด 24 ชั่วโมง เราสามารถพูดคุยโทรศัพท์แล้วมองเห็นหน้ากันและกันในแบบ Real time ได้ เราสามารถดูทีวีออนไลน์ที่เป็นรายการสดต่างๆ ได้จากบนมือถือในทุกๆที่ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นวิวัฒนาการอันน่าทึ่งของเทคโนโลยี 3G ที่ช่วยให้การรับส่งข้อมูลปริมาณมากๆ ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เป็นเรื่องง่ายๆ สำหรับทุกคน

แต่ก็ใช่ว่าการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านความเร็วของการรับส่งข้อมูลบนเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ จะเพียงพอและหยุดนิ่งอยู่เพียงแค่นี้ เพราะที่ผ่านมาการใช้งาน 3G ต้องขอบอกเลยว่ายังพบกับปัญหาต่างๆ อยู่อีกมากมาย เช่น เน็ตหลุด สัญญาณขัดข้อง ภาพกระตุก ความเร็วในการรับส่งข้อมูลถูกจำกัด ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนกลายเป็นแรงผลักดันก่อให้เกิดเป็นการพัฒนาไปสู่ยุคถัดไป นั่นคือเทคโนโลยี 4G นั่นเอง

ระบบโทรศัพท์มือถือในยุค 4G ได้ถูกกำหนดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจาก ระบบโทรศัพท์มือถือในยุคก่อนๆ ให้มีประสิทธิภาพและมีความเร็วในการรับส่งข้อมูลที่สูงยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งความเร็วบนมาตรฐาน 4G นั้น ได้ถูกกำหนดไว้ที่ 1 Gbps แต่ด้วยขีดจำกัดทางด้านเทคโนโลยีและความพร้อมของผู้ให้บริการ จึงทำให้ความเร็วในการรับส่งข้อมูลบนมาตรฐาน 4G ที่ใช้กัน ยังมีความเร็วไม่ถึงตามที่กำหนด โดยจะมีอัตราความเร็วในการรับส่งข้อมูลอยู่ที่ 100 -150 Mbps เท่านั้น แต่ด้วยความเร็วที่สูงขึ้นนี้ ก็ยังช่วยให้เราสามารถใช้งานโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์อื่นๆ ที่รองรับกับเทคโนโลยี 4G นี้ได้หลากหลายยิ่งขึ้น ทั้งการดูวิดีโอออนไลน์ด้วยความคมชัดและไม่มีการกระตุก, การโทรฯข้ามประเทศแบบมองเห็นหน้ากันและกัน ที่สามารถโต้ตอบกันได้ทันที ณ ขณะนั้น (Video Call) และการประชุมทางไกลผ่านโทรศัพท์ (Tele-Conference) ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้เข้าร่วมประชุมที่อยู่นอกสำนักงาน เป็นต้น

ถ้าพูดถึงเทคโนโลยีของระบบโทรศัพท์มือถือในยุค 4G จริงๆ แล้ว จะแบ่งออกเป็น 2 ระบบด้วยกัน คือ WiMAX ซึ่งจะนิยมใช้แค่ในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น, ไต้หวัน และบังคลาเทศ กับ LTE หรือ Long Term Evolution ที่ซึ่งเป็นระบบที่ถูกนำมาใช้กันแพร่หลายในบ้านเรา โดยอุปกรณ์สื่อสารที่สามารถรองรับการใช้งานร่วมกับเทคโนโลยี 4G LTE ได้นี้ ก็จะมีรูปร่างหน้าตาที่เหมือนๆกันกับอุปกรณ์สื่อสารที่รองรับกับเทคโนโลยี 3G ที่เราใช้ๆกันอยู่นี่แหละ เพียงแต่มีชิปที่รองรับกับเทคโนโลยี 4G LTE ติดตั้งอยู่ในเครื่อง

ในประเทศไทยหลังจากผ่านพ้นการประมูลคลื่นความถี่ 4G ไปแล้ว ผู้ให้บริการจาก 3 ค่ายยักษ์ใหญ่ในประเทศที่ประมูลได้ไปคือ AIS, True Move H และ Dtac ต่างก็ไปจัดเตรียมและปรับปรุงเครือข่ายของตนที่มีอยู่แล้วเกือบทั่วประเทศให้รองรับกับการเปิดให้บริการ 4G โดย True Move H ถือเป็นค่ายแรกที่ได้เปิดให้บริการใช้งาน 4G LTE บนคลื่นความถี่ 2100 MHz  ที่ในตอนนั้นถึงแม้คลื่นดังกล่าวจะถูกประมูลมาเพื่อใช้ทำ 3G ก็ตาม แต่ True Move H ก็ได้ถือโอกาสแบ่งคลื่นความถี่บางส่วนมาใช้ทำ 4G ซึ่งนั่นหมายความว่า ในตอนนั้นถ้าลูกค้าจะใช้บริการ 4G LTE ของ True Move H ตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์สื่อสารที่นำมาใช้ นอกจากจะต้องรองรับกับเทคโนโลยี 4G LTE แล้ว ก็จะต้องรองรับการใช้งานบนคลื่นความถี่ 2100 MHz ด้วย หลังจากนั้นไม่นาน Dtac และ AIS ก็เปิดให้บริการ 4G ตามมา บนคลื่นความถี่ 2100 และ 1800 MHz ตามลำดับ

4.5G

เป็นระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ถูกพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นจาก 4G LTE เดิม โดยอาศัยเทคโนโลยี Carrier Aggregation ที่สามารถดึงเอาช่องสัญญาณบนคลื่นความถี่อื่นมาใช้พร้อมๆกันได้มากกว่า 1 Carrier (สมาร์ทโฟนทั่วไปในปัจจุบันสามารถรองรับได้พร้อมกันสูงสุด 3 Carrier หรือ 3CA แต่เครือข่ายที่ใช้งานจะต้องรองรับเทคโนโลยีนี้ด้วย) พร้อมทั้งยังได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการรับส่งข้อมูลให้ดีขึ้น โดยได้คิดค้นวิธีในการเพิ่มจำนวนเสาทั้งรับและส่งมาเป็น 4×4 MIMO ผสมผสานกับเทคนิคในการมอดูเลตสัญญาณดิจิตอลแบบ 256-QAM จึงช่วยเพิ่มความเร็วขึ้นอีกเป็น 2 เท่า จนกลายมาเป็น 4.5G LTE-Advanced หรือ 4.5G (LTE-A) ที่มีอัตราความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 300 Mbps หรือประมาณให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ สามารถดาวน์โหลดไฟล์หนังขนาด 2GB กว่าๆให้เสร็จได้ภายในเวลาไม่ถึง 1 นาทีนั่นเอง นอกจากนี้ LTE-A ยังสามารถทำงานร่วมกับระบบ LTE เดิมได้ แต่อาจไม่สามารถใช้งานลูกเล่นใหม่ๆ บางประการของ LTE-A บนระบบ LTE ได้

 

ระบบ LTE-A จะมีประโยชน์ทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นด้านความเร็วของระบบที่สูงขึ้นมาก, การใช้คลื่นความถี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ, สัญญาณบริเวณขอบเซลล์ที่ดีขึ้น, เซลล์ครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้น ตลอดจนช่วยลดค่าใช้จ่ายสำหรับการบริหารจัดการโครงข่ายที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น